การสื่อสารให้จบลงด้วยดี Ending Life and Showing Love Communication


นายแพทย์ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

โดยทั่วไปการสื่อสารของคนเรา มีช่องทางอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การสื่อสารด้วยภาษาพูด (หรือภาษาเขียน) และการสื่อสารด้วยภาษากาย เรารู้กันโดยทั่วไปว่า อิทธิพลจากการสื่อสารด้วยภาษากายนั้น มีความสำคัญ ส่งผลต่อการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนตรงหน้าได้อย่างลึกซึ้ง และเข้าถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในใจของคนๆ นั้นมากกว่าภาษาพูด


ในกรณีที่เราต้องเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีความจำกัดในการสื่อสารด้วยภาษาพูด หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีระดับของสติหรือระดับความรู้ตัวที่ลดลงก็มักมีข้อจำกัดมากขึ้นในการสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบในเวลาที่ผ่านไป อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือแม้แต่หลักปรัชญา หลักทางศาสนาต่างๆ ก็ให้แง่คิดเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างบุคคลในระยะนี้ ทำนองว่า ผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ที่ใกล้จะเสียชีวิต การได้ยินทางประสาทหูและการรับสัมผัสทางร่างกายยังพอมีอยู่บ้าง แม้ว่าภายนอกคนรอบข้างไม่เห็น การตอบสนองจากสีหน้าท่าทางก็ตาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายของเขาทำงานลดลง ทั้งนี้ จิตของเขาเหล่านั้นมีความไวในการตีความ มีความไวต่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขามากขึ้น ในทางพุทธศาสนา เชื่อว่าเมื่อร่างกายคนเรานั้นลดการทำงานลง จิตใจก็เพิ่มการทำงานมากขึ้น เพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยว บุคคลพยายามสร้างภาพ เป็นความฝัน เป็นความนึกคิด หรืออาจเรียกว่าเป็นนิมิตในช่วงท้าย นับไม่ถ้วน ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ ตามความเชื่อเรื่องการตายดี บุคคลจะสร้างภาพในใจหลายต่อหลายภาพ จนกระทั่งถึงจุดเสี้ยววินาทีสุดท้ายขณะที่จิตและกายแยกจากกัน ภาพสุดท้ายที่เราเรียกว่า “คตินิมิต” ซึ่งหมายถึง ภาพที่จิตนั้นจำ และนำให้จิตดวงนั้น เข้าไปข้องเกี่ยว ผูกพันกับอารมณ์ซึ่งนั่นหมายถึง สิ่งหรือสถานที่ที่จิตดวงนั้นจะไปเกิดใหม่ ไปมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งที่นั่น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง มีความสำคัญ น่าจดจำบ้าง ไม่น่าจดจำบ้าง ก็มีโอกาสถูกนำมาฉายให้ให้ปรากฏแก่จิตให้รับรู้และเกาะเกี่ยวอีกครั้งในช่วงใกล้เสียชีวิต ผู้ที่มีการฝึกจิตมาดีแล้ว คือ มีความชำนาญต่อการละวาง ปล่อยวาง และการยอมรับความรู้สึกทั้งกายและใจ ตลอดจนสิ่งต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ ได้รวดเร็วก็จะไม่เกิดการเกาะเกี่ยวผูกพันธ์ในอารมณ์ของนิมิตนั้นๆ ซึ่งเป็นเหตุตรงต่อการเกิดใหม่ของชีวิตถัดไป หรือมีความเบาของจิตมากขึ้นจนกระทั่งสามารถไปในภพภูมิที่สูงขึ้นได้ ได้รับโอกาสจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่สูงขึ้นไปได้ เช่น เข้าถึงความเป็นอมตะของชีวิตถัดไป เป็นต้น


เทคนิคการสื่อสาร

หลักการสื่อสารด้วยภาษาพูดและภาษากายในช่วงท้ายของชีวิตที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีและช่วยการปล่อยวางมากขึ้น คือ การสื่อคำ "รัก" ในกรณีต่างๆ ที่เรามีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะเสียชีวิตเป็นคู่ๆ ตามหลัก หยินหยาง ได้แก่ การสื่อสาร 3 ระดับ ได้แก่


1. “เอาทุกข์ออก” ” ได้แก่ "คำขอบคุณ" กับ "คำขอโทษ" (ทางพุทธเรียก ขออโหสิกรรม) ตัวอย่างเช่น
­ - “ฉันขอบคุณเธอที่ช่วยเหลือฉันในเหตุการณ์ยากลำบากในชีวิตมาตลอดนะ”
­ - “ฉันขอโทษที่อาจจะไม่สามารถทำในสิ่งที่เธออยากจะเห็นได้ทันเวลานะ”



2. “เอาสุขให้” ได้แก่ "คำให้อภัย" และ "คำอวยพร" (หรือ คำให้อนุญาตจากลา) ตัวอย่างเช่น
­ - ­ “ฉันไม่คิด ไม่ติดใจเรื่องที่เธอเคยทำให้ฉันลำบากทางการเงินแล้วหล่ะ สบายใจได้เลยนะ”
­ - ­ “ฉันขอให้เธอทำสามาธิบ่อยๆมีความสุขภายใน หากจะต้องเดินทางก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะ”



3. “เอาใจว่าง” ได้แก่ "คำสัญญา"(สิ่งที่ตนเองจะสานต่อ ทำต่อเพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้และยินดี) และ "การสัมผัส" (อาจจะพร้อมบอกคำว่า "รัก" ข้างๆ หูของผู้ป่วย) ตัวอย่างเช่น
­ - ­ ­ “ฉันขอสัญญาว่าจะดูแลคนที่เธอรักให้ดี ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เธอตั้งใจไว้นะ... ฉันรักเธอนะ”


เทคนิคการสื่อสาร

การกล่าวสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยภาษากายที่ดี ควรทำในลักษณะที่บุคคลนั้นมีจิตใจสงบ วางใจเป็นกลางเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดความลำเอียงจากน้ำเสียงที่ไม่ปกติ โดยไม่ใช้เสียงสูงหรือเสียงดังจนเกินไปเพื่อยังคงรักษาสมาธิของผู้ป่วยไว้ได้ (โทนเสียง จังหวะและความดัง-เบา จัดว่าเป็นภาษากายแบบหนึ่ง) และกล่าวในบริบท ที่เป็นส่วนตัว แยกทีละคน เพื่อป้องกันความรู้สึกเก้อเขินหรือประหม่าขณะกล่าวสิ่งต่างๆ นั้น


นอกจากนี้คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง คือ “การตั้งคำถาม” เนื่องจากสิ่งนี้ทำให้จิตของผู้ป่วยสับสน ขาดสมาธิได้ หรือเป็นทุกข์หวั่นไหวมากขึ้น เช่น “จำได้ไหมว่าฉันเป็นใคร” “รู้ไหมว่าตอนนี้นอนอยู่ที่ไหน” “มีเรื่องไม่สบายใจอะไร อยากจะเล่าให้ฉันฟังไหม”(ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยไม่มีแรงสื่อสารได้แล้ว) เป็นต้น


มุมมองต่อการสื่อสารในระยะท้ายของชีวิตนี้จึงมีทั้งที่เป็นวิกฤต และที่เป็นโอกาสในขณะเดียวกัน ถ้าหากผู้ดูแลตระหนักถึงสิ่งนี้ ตั้งใจให้มั่น พยายามเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ผู้ดูแลสามารถที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตได้ โดยทำให้ ผู้ป่วยระยะท้ายนั้น เกิดภาพ เกิดนิมิตในใจที่เป็นบุญ เป็นประโยชน์ เพื่ออย่างน้อยเราก็ถือว่าได้ให้โอกาสต่อการเกิดใหม่ที่ดีของเขาและไม่ติดค้างใจนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การสื่อสารเหล่านี้เพื่อได้ผลดีสูงสุดต่อผู้ป่วย ญาติพี่น้อง หรือผู้ดูแลควรจัดสถานที่ในการสื่อสารให้เหมาะสม เช่น ที่ที่เป็นห้องส่วนตัว ที่ที่ผู้ป่วยเลือกแล้ว ที่ที่มีบรรยากาศของความอบอุ่นเสมือนบ้านที่ผู้ป่วยคุ้นเคย ที่ที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดกลัวต่อหัตถการทางการแพทย์ หรือที่ที่เหมาะสมต่อการอบรมจิตให้สงบและเป็นธรรมชาติ และสำคัญที่สุด คือ ผู้ที่อยู่รอบข้างก็ถือเป็นสิ่งแวดล้อมของจิตสุดท้ายดวงนั้นเช่นเดียวกัน ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องมีการฝึกจิต มีการเตรียมจิตใจของตนเองให้สงบและเป็นกลางอยู่เสมอๆ ก่อนเข้าใกล้ผู้ป่วยหรือสัมผัสตัวผู้ป่วยนั่นเอง




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม