อัลไซเมอร์...โรคใกล้ตัวคนสูงวัย


แพทย์หญิงอุมามน พวงทอง
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

โรคหนึ่งที่มักมากับอายุที่เพิ่มขึ้นและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงสนทนาต่างๆ คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของกลุ่มอาการสมองเสื่อม (dementia) ในประเทศไทยมีการศึกษาถึงความชุกของภาวะสมองเสื่อม โดยพบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 75 จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2 เท่า ตามอายุของผู้ป่วยในทุกๆ 5 ปี เพศชายและเพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคได้เท่าๆ กัน


ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่จากการวิจัยซึ่งก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมบางตัว ความผิดปกติทางชีววิทยาในสมอง คือ มีการสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์ (Amyloid plaques) และใยโปรตีน (Neuro fibrillary tangles) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีนที่เรียกว่า เทาว์โปรตีน (tau) “Tau protein” ที่ก่อให้เกิดการพันกันยุ่งเหยิงของเซลล์ประสาท นำไปสู่การล่มสลายของโครงสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทในการที่จะติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน



Alzheimer


นอกจากนั้นปัจจัยด้านพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดโรคด้วยเช่นกัน อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พันธุกรรมในโรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มอาการตั้งแต่อายุน้อย คือ โรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มแสดงอายุตั้งแต่ช่วง 40 – 60 ปี พบได้น้อยมาก ซึ่งมียีนที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ตัวหลัก คือ พรีซีนิลิน 1 พรีซีนิลิน 2 และอะมัยลอยด์พรีเคอร์เซอร์โปรตีน นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติว่าพ่อแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว ส่วนพันธุกรรมในโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการเมื่ออายุมาก คือ ยีนหลักที่เกี่ยวข้อง อะโปไลโบรโปรตีนอี ที่เชื่อว่าเป็นตัวหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ จะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมียีนตัวนี้ จะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์แน่นอน


ลำดับการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์เป็นการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทอย่างช้าแต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีความแตกต่างระหว่างบุคคล หมายความว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีอาการแบบเดียวกันเสมอไป อาการอาจมีการขึ้นๆ ลงๆ ได้ และการดำเนินโรคช้าเร็วต่างกันได้ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3–20 ปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ปี ขึ้นกับระยะเมื่อได้รับการวินิจฉัยและภาวะสุขภาพทางกายโดยรวมของผู้ป่วยนั้นๆ ด้วย


สำหรับอาการหลักที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น เป็นอาการหลงลืมที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลงลืมเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไปจนถึงไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ นึกคำพูดหรือประโยคไม่ออก เรียกชื่อสิ่งของผิด สับสนเรื่องเวลา สถานที่ รวมถึงอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า วิตกกังวล ระแวง เห็นภาพหลอน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวัน


Alzheimer

โดยสรุปแล้วผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องในด้านต่างๆ 4 ด้านหลัก ได้แก่


1. ความบกพร่องด้านความจำ โดยเฉพาะความระยะสั้น คือ ความจำหลังจากรับรู้สิ่งเร้าแล้วเพื่อนำมาใช้งาน ความจำนี้จำได้นาน 20 ถึง 30 วินาที ความจำระยะสั้นนี้จะสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาจึงจะรักษาไว้ได้ ทำโดยการท่องซ้ำๆ เช่น เรากำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนเพื่อขอเบอร์ของเพื่อนอีกคน เมื่อเพื่อนบอกหมายเลขโทรศัพท์แต่เราไม่มีสมุดจด ก็ท่องไว้ในใจ และรีบวางสายเพื่อต่อสายถึงเพื่อนคนนั้น แต่ในขณะที่เรากำลังกดเบอร์โทรศัพท์นั้นอยู่ ปรากฏว่ามีใครพูดแทรกขึ้นมา หรือชวนคุย ก็อาจทำให้เราลืมหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปได้ทั้งๆ ที่ยังกดหมายเลขไม่จบ


2. ความบกพร่องด้านการใช้ภาษา การใช้เหตุผล รวมถึงอาจสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่


Alzheimer


3. บุคลิกภาพ หรือ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น มีพฤติกรรมซ้ำๆ หรือพูดซ้ำๆ ตลอด มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้ป่วยอาจจะจำใครไม่ได้เลย หรือจำเรื่องราวบางสิ่งได้เป็นนาที และลืมภายในไม่กี่นาที


4. ความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น การรับประทาน อาจเคี้ยวหรือกลืนอาหารเองไม่ได้ หรือการขับถ่าย รวมไปถึงเรื่องการดูแลความสะอาดของร่างกาย



Alzheimer





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม