การเปลี่ยนแปลงชีวิตหลังวัยเกษียณ


สันติ จันทวรรณ
หัวหน้านักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์

การปลดเกษียณจากการทำงานย่อมเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาและวัยอันสมควร สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสังคม มีหลายคนประสบปัญหาในการใช้ชีวิตและการปรับตัวหลังเกษียณ สิ่งที่ช่วยให้สามารถปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ราบรื่น ต้องอาศัยการวางแผนล่วงหน้าและการสนับสนุนดูแลจากคนในครอบครัว ฉะนั้นการทำความเข้าใจและเรียนรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตหลังเกษียณนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวและเตรียมใจในการที่เข้าสู่วัยเกษียณได้ง่ายขึ้น



วัยเกษียณ

การเปลี่ยนแปลงชีวิตหลังวัยเกษียณมีอะไรบ้าง


1. บทบาทและหน้าที่ทางสังคม บทบาทและหน้าที่ในการทำงานนั้นจะหายไป สิ่งนี้ต้องอาศัยการปรับตัวกับบทบาทและหน้าที่ใหม่ หากไม่ได้วางแผนหรือมีบทบาทใหม่รองรับ อาจทำให้รู้สึกอ้างว้าง ขาดเป้าหมาย ขาดการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่ช่วยได้ คือ หากิจกรรมหรืองานเล็กๆ น้อยๆ ทำ ช่วยให้เรารู้สึกว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบและต้องดูแล ทำให้มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต


2. สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตนเองเพราะเมื่อถึงวัยเกษียณ นั่นหมายถึงว่า เราได้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ฉะนั้นต้องหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพตนเองให้มากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การไม่ทำงานหนักเกินไป หรือการไม่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ พร้อมกันนั้นต้องหมั่นตรวจสุขภาพให้เป็นประจำ


วัยเกษียณ


3. การเข้าสังคม การเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานนั้นน้อยลง อาจทำให้รู้สึกเหงา อ้างว้าง ถ้าหากกลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมงาน สิ่งที่ช่วยได้ คือ เราต้องออกไปหาสังคมใหม่ๆ เช่น การเข้ากลุ่มชุมชน กลุ่มสมาคม หรือกลุ่มทางศาสนา ซึ่งทำให้ได้พบเพื่อนหรือสังคมใหม่ๆ


4. การเงิน การใช้เงินหลังเกษียณอาจมีปัญหา หากไม่มีการวางแผนการใช้เงินก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณแล้วรายได้หลักจากการทำงานนั้นจะหายไป อาจได้เงินจากการเกษียณมาก้อนหนึ่งหรือได้เป็นเงินบำนาญ แต่ก็ต้องวางแผนการการออมเงินก่อนวัยเกษียณและวางแผนการประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงชีพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายทั่วไป และการเข้าสังคม ซึ่งอาจเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกันกับรายได้ที่ลดลง


5. การดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องด้วยเวลาในการทำงานนั้นขาดหายไปทำให้เหลือเวลาว่างเกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่ควรทำ คือ การคิดวางแผนการใช้เวลาที่มีอยู่ว่าจะทำอะไรเพื่อให้ตนเองใช้เวลาที่ว่างอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์


6. ครอบครัวการเข้าสู่วัยเกษียณนั้น สิ่งที่ตามมา คือ การเปลี่ยนบทบาทในครอบครัวจากคนที่หารายได้เข้ามาในบ้านหรือเป็นเสาหลักภายในบ้านกลายมาเป็นวัยผู้สูงอายุในบ้าน โดยอาจมีหน้าที่ที่แตกต่างไป เช่น ดูแลบ้าน อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน


7. อารมณ์และความรู้สึกอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน หลายคนอาจมีความรู้สึกเหงา อ้างว้าง กลัว โดดเดี่ยว รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง ยอมรับไม่ได้กับการเกษียณ ซึมเศร้า หรือรู้สึกใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ต้องอาศัยช่วงเวลาที่ต้องปรับตัว สิ่งที่ช่วยได้ คือ ต้องอาศัยการช่วยเหลือของคนในครอบครัว พูดคุย ประคับประคอง และช่วยวางแผนให้ใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม