ในวันที่ลูกต้องรับมือกับความสูญเสียหรือความตาย


แพทย์หญิงเพียงทิพย์ หังสพฤกษ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

ในวันที่ลูกต้องเผชิญกับความสูญเสียหรือความตาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการจากไปของคุณพ่อ คุณแม่ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงแสนรัก การบอกกล่าวลูกในเรื่องน่าเศร้านี้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายท่านกังวลใจ ไม่กล้าบอกความจริง เพราะกลัวลูกจะรับไม่ได้ และอาจกลายเป็นฝันร้ายติดตัวลูกไปตลอด ทำให้พ่อแม่บางท่านต้องปิดบังความจริงกับลูกด้วยวิธีต่างๆ นานา

การบอกลูกเรื่อง "ความตาย" พ่อแม่ควรเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นให้ลูกฟังก่อนว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เชื่อมโยงไปสู่การตาย เช่น วันหนึ่งลูกสุนัขตัวโปรดของลูกถูกรถชนตาย แทนที่จะบอกลูกในตอนที่มันแย่ที่สุดว่า "วันนี้แม่มีเรื่องเศร้ามาบอก ลูกหมาของลูกตายแล้วนะ" แต่ควรจะค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบให้ลูกฟังอย่างเข้าใจ ซึ่งการบอกในลักษณะนี้ จะทำให้เด็กตั้งรับทัน และเกิดข้อสงสัยเกี่ยวการตายของลูกสุนัขน้อยลง


การสร้างเรื่องบิดเบือนลูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่การให้เหตุผลว่าทำไมคน หรือสัตว์ต้องตายเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น การพูดกับลูก หรือบอกลูกเรื่องความตาย คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ดีก่อน เพราะบางคนบอกเด็กด้วยความฟูมฟาย ร้องห่มร้องไห้ นั่นจะทำให้เด็กไม่เข้าใจ และเกิดความกลัวได้ ซึ่งเด็กแต่ละวัยเข้าใจเรื่องความตายต่างกัน โดยเด็กหลังจาก 9 ขวบไปแล้วจะเริ่มเข้าใจความตายเทียบเท่ากับผู้ใหญ่


บอกลูกเรื่องความตาย

อย่างไรก็ดี การตอบคำถามเรื่องความตายกับลูก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็ก ไม่ควรแสดงทัศนคติเกี่ยวกับความตายมากจนเกินไป เช่น การที่ลูกเห็นท่านย่าในละครตายจากไป แล้วหันมาถามว่า “แล้วคุณย่าของเขาจะตายหรือเปล่า” ในฐานะพ่อแม่ไม่ควรหันไปดุหรือตำหนิลูก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีตามมาได้



ถ้าลูกสงสัยก็อธิบายให้ลูกฟังแค่จุดตรงนั้น เช่น เด็กถามว่า คุณย่าของเขาจะตายเหมือนท่านย่าในละครหรือเปล่า เราก็แค่ถามต่อไปว่า ทำไมหนูถึงถามแบบนั้นล่ะ ถ้าเด็กตอบว่า “ก็หนูกลัวไม่มีคนซื้อไอศกรีมให้กิน” คุณก็แค่ตอบไปง่ายๆ ว่า “หนูก็ยังมีแม่กับพ่อคอยซื้อให้กินไงจ้ะ” ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องความตายด้วยซ้ำ แต่ถ้าลูกยังถามต่อไปว่า “ทุกคนต้องตายด้วยเหรอ” เราอาจคุยกันตามจริงไปเลยว่า “ใช่ลูก สักวันหนึ่งคนเราก็ต้องตายไป ไม่มีใครอยู่ได้ตลอด เพราะไม่เช่นนั้นคนจะล้นประเทศ”



บอกลูกเรื่องความตาย


แต่ในทางกลับกัน การพูดเรื่องความตายให้ดูดีมากเกินไป อาจเป็นผลร้ายกับเด็กได้ เช่น การพูดกับลูกบ่อยๆ ว่าการตายทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือตายแล้วจะไปสบาย สำหรับเด็กบางคนอาจยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอ และคงคาดเดาไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งลูกถูกเพื่อนแกล้ง แล้วอยากจะฆ่าตัวตายเพื่อการหลุดพ้นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่บอก เป็นสิ่งที่ไม่อาจทราบได้ ดังนั้นจึงต้องระวังในเรื่องนี้ด้วย


นอกจากนี้ การพูดเรื่องความตายกับเด็ก บางเหตุผลสามารถใช้ได้ดี ในขณะที่บางเหตุผลคุณพ่อคุณแม่ควรจะหลีกเลี่ยงด้วย เช่น เปรียบเทียบความตายกับการนอนหลับ เพราะลูกจะไม่อยากนอน เนื่องจากกลัวว่า ถ้านอนไปแล้วจะไม่ตื่น และจะเหมารวมไม่อยากให้พ่อแม่หลับไปด้วย เพราะเขาเชื่อไปแล้วว่า ถ้าพ่อแม่หลับไปจะไม่ตื่นมาอยู่กับเขา รวมถึงการเอาเรื่องความตายมาบังคับหรือข่มขู่เด็ก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เช่น "ทำไมลูกดื้อแบบนี้ อยากให้พ่อแม่ตายเร็วๆ หรืออย่างไร" ซึ่งการพูดถึงความตายในลักษณะของการข่มขู่ น่ากลัว เจ็บปวดหรือพูดว่าความตายเป็นเหมือนการทอดทิ้ง ถูกลืม จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามันน่ากลัวและรู้สึกผิดได้ เพราะการที่พ่อแม่เอาเรื่องแบบนี้มาขู่เด็กจะทำให้เด็กเชื่อฟัง แต่หารู้ไม่ว่าวิธีเหล่านี้ จะทำให้เด็กกลัว และรู้สึกผิดได้ แล้วถ้าเกิดสมมติว่า วันหนึ่งพ่อแม่ตายขึ้นมาจริงๆ เด็กอาจนำมาเชื่อมโยงได้ว่า เขาเป็นคนทำให้พ่อแม่ตาย เพราะว่าตัวเขาดื้อ ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจเด็กตามมาได้สูง


บอกลูกเรื่องความตาย

ดังนั้น การบอกเรื่องความตาย หรือความสูญเสียกับลูกเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากใช้อารมณ์ ตลอดจนเหตุผลที่ดีและเหมาะสม ไม่พูดบิดเบือนความจริงเรื่องความตาย เพราะการโกหกหรือหยิบยกเรื่องราวต่างๆ มาปิดบังเด็ก วันหนึ่งหากเด็กรู้ความจริง จะยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจให้รู้สึกไม่ดี และยากที่จะฟื้นจิตใจของเด็กให้กลับคืนมาได้



บอกลูกเรื่องความตาย


บอกลูกเรื่องความตาย


บอกลูกเรื่องความตาย


บอกลูกเรื่องความตาย





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม