เมื่อคนที่รักจากไป รับมือกับการสูญเสียอย่างไรดี


วาทมอน แก้วสมสอน
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์

การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิทหรือคนรัก ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเผชิญและย่อมทำให้รู้สึกเจ็บปวดโศกเศร้าเป็นอย่างมาก โดยบางคนอาจต้องใช้เวลานานในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและความโศกศัลย์ที่เกิดจากวิกฤตนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงช่วยให้ปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวและสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ต่อไป



ความโศกเศร้าจากการสูญเสียเป็นอย่างไร?


ความโศกเศร้าเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่ตอบสนองต่อการสูญเสีย ทั้งการสูญเสียคนรัก สูญเสียความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการสูญเสียสุขภาพที่ดี โดยลำดับขั้นมักเริ่มจากการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง การเกิดความกลัว ความโกรธ ความซึมเศร้า และอาจไปถึงขั้นสุดท้าย คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือค่อยๆ เกิดขึ้นตามลำดับก็ได้ และในขณะที่เผชิญลำดับขั้นต่างๆ อยู่ ผู้ที่สูญเสียอาจมีความรู้สึกสับสน เสียใจ กลัว รู้สึกผิด หรือหมดหวังร่วมด้วย โดยระดับความรุนแรงของสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้มักขึ้นอยู่กับระดับของการสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วย



รับมือกับการสูญเสีย


6 แนวทางรับมือความสูญเสียและความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น



แม้ว่าวิธีเผชิญความสูญเสียและการแสดงออกถึงความเจ็บปวดเสียใจของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปแต่การปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงหนึ่งของชีวิตนี้ไปได้


1. ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น อารมณ์โกรธ เศร้า และความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียคนที่รักเป็นสิ่งปกติ การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและยอมรับความรู้สึกเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติจะช่วยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
2. ระบายความรู้สึกการพูดคุยและระบายความรู้สึกกับคนรักหรือคนที่เข้าใจ กับสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดออกมาได้ นอกจากนี้ อาจขอกำลังใจจากคนรอบข้างเพราะกำลังใจดีๆ จะช่วยให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ง่ายขึ้น
3. เขียนแสดงความรู้สึก การเขียนระบายความรู้สึกต่างๆ จากการสูญเสียช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดและช่วยให้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเจ็บปวดต่อไปได้
4. ดูแลตนเองและคนรอบข้างควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือการตัดสินใจที่สำคัญหากยังไม่มีความจำเป็น
5. ให้กำลังใจผู้อื่น การให้กำลังใจผู้ที่เผชิญความสูญเสียเหมือนกันช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น รวมถึงการแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันก็ช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้
6. จดจำและระลึกถึงบุคคลที่จากไป อาจวางรูปภาพของบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีความสุขไว้ เพื่อย้ำเตือนถึงความทรงจำดีๆ ที่มีร่วมกัน หรืออาจปลูกสวนดอกไม้เพื่อระลึกถึงบุคคลที่จากไป และอาจใช้วิธีอื่นๆ เพื่อจดจำคนรัก




อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีต่างๆ แล้วยังรู้สึกเจ็บปวดและเศร้าเสียใจ ควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอรับคำปรึกษาและหาแนวทางที่ช่วยให้ตนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ



รับมือกับการสูญเสีย

เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์ ?


การสูญเสียคนรักเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดทางจิต หากพบว่าตนเองมีอาการต่อไปนี้



1. รู้สึกผิดหรือโทษตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น
2. รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
3. ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
4. ไม่อยากพบเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก
5. รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไป
6. รู้สึกอยากตายตามคนที่รักไปด้วย


จิตแพทย์หรือนักบำบัดอาจใช้วิธีพูดคุยบำบัดอาการทางจิต เพื่อให้ผู้ที่สูญเสียปรับตัวกับปัญหาพร้อมทั้งรับมือและจัดการกับความโศกเศร้าได้ ส่วนผู้ที่มีอาการเศร้าอย่างรุนแรงหรือมีอาการของโรคซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านซึมเศร้าร่วมด้วย นอกจากนี้ หากมีความคิดวางแผนฆ่าตัวตายหรือพยายามทำร้ายตนเอง ควรรีบโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อขอรับบริการที่โรงพยาบาลในทันที


รับมือกับการสูญเสีย



เอกสารอ้างอิง


1. ทัศนีย์ ทองประทีป, ทัศนา ชูวรรธนะปกรณ์. การดูแลผู้ที่มีความเศร้าโศกจากการสูญเสีย. ใน: ประคอง อินทรสมบัติ, สายพิณ เกษมกิจวัฒนา, บรรณาธิการ. คู่มือพัฒนาทักษะสำ หรับพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. นนทบุรี: โครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการ สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. 2557-2559; 2558. หน้า 217-25
2. วราภรณ์คงสุวรรณ, สิริวรรณ คงทอง. ภาวะโศกเศร้า. ใน: กิตติกร นิลมานัต, วราภรณ์คงสุวรรณ, บรรณาธิการ. ปรากฎการณ์ที่พบบ่อยในระยะสุดท้ายของชีวิตและการดูแล. สงขลา: จอยปริ้นท์; 2556. หน้า 100-20.
3. สุธีรา พิมพ์รส . ปฏิบัติตัวปฏิบัติใจอย่างไรเพื่อรับมือกับความทุกข์โศกจากการสูญเสีย. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2553.
4. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ชาติชาย มุกสง, ราตรีปิ่นแก้ว, วรัญญา เพ็ชรคง, สมิทธิ์ถนอมศาสนะ, ประชาธิป กะทาและคณะ. วัฒนธรรม ความตายกับวาระสุดท้ายของชีวิต คู่มือเรียนรู้มิติสังคม ของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: หนังสือดีวัน; 2550
5. นภา หลิมรัตน์, ศรีเวียง ไพโรจน์กุล. การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสำ หรับผู้ให้การดูแล. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2559
6. Fiorelli R. Grief and bereavement. In: Kinzbrunner BM, Policzer JS, editors. End of life care a practical guide. 2nd ed. New York: McGraw-Hill Medical; 2011. p. 635-63.





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม