แพทย์หญิงอังคณา อัญญมณี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
เด็กที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายระทึกขวัญ เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือโศกนาฏกรรม ย่อมได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจจนอาจเกิดภาวะตกใจและหวาดกลัว กลายเป็นคนตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิและมักจะมีอาการเงียบ สับสน งง อารมณ์เฉยชา ขาดการตอบสนอง หากไม่ได้รับการเยียวยา ดูแลหลังเกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายในทันที ไม่เป็นผลดีกับเด็กอย่างแน่นอน
เด็กที่รอดชีวิตจากการเผชิญเหตุการณ์โดยตรง จะเกิดอาการหวาดกลัว ตกใจง่ายเหมือนตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือเด็กโตบางคนจะรู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิตมาได้แต่ไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้
อาการที่ปรากฏจะมีซึมเศร้าใน 2 สัปดาห์แรก เช่น ไม่ร่าเริง เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดความสุข เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ
สมาธิสั้น หมดแรง เหนื่อยหน่าย คิดว่าตัวเองเป็นภาระผู้อื่น เบื่อชีวิต คิดมาก อยากตายและคิดฆ่าตัวตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อการเรียนหรือพัฒนาบุคลิกภาพใน
ระยะยาวอย่างแน่นอน ผู้ใหญ่ต้องดูแลให้เขารู้สึกปลอดภัย มั่นคง จนค่อยๆ ดีขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันให้ ความช่วยเหลือเขา
ส่วนเด็กที่มีลักษณะกังวลมากๆ ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงต่ออาการทางจิตเวช เรียกว่า Posttraumatic Stress Disorder
(PTSD) ซึ่งตรงนี้เป็นภาวะที่รุนแรง มีลักษณะตื่นตระหนกและตกใจง่าย เหมือนได้ยินเสียงอะไรที่ทำให้ตกใจก็จะตกใจอย่างง่าย
วิธีปฏิบัติอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยเหลือเด็กโดยพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ควรปฏิบัติดังนี้
1. เบี่ยงเบนความคิดของเขา ทำให้เขามีอารมณ์ที่สนุกสนาน ร่าเริงมากขึ้น ด้วยการเล่นหรือทำกิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อสร้างความสุขและสามารถแสดงอารมณ์ผ่านกิจกรรมนั้นๆ เช่น การวาดรูป การปั้นดินน้ำมัน
2. ให้ความช่วยเหลือ โดยให้ความสุขเกิดขึ้นในใจเด็กก่อน เราประคับประคองจิตใจของเขา เช่น เขาอยากเล่าอะไร ให้เขาเล่าตามความต้องการของเขาหรือเขาจะเล่าในเรื่องของความสูญเสีย
3. ไม่ควรถามเด็กในเรื่องที่เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ เพราะบางครั้งผู้ใหญ่จะให้เด็กเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ วนไปวนมา ถ้าเด็กมีจิตใจค่อนข้างอ่อนไหวจะเกิดเป็นแผลที่ลึกมากขึ้น แทนที่จะเยียวยากลับกลายเป็นเกิดบาดแผลขึ้นมาแทน
4. ไม่ควรห้ามว่าอย่าไปพูดถึง อย่าไปสนใจหรืออย่าเสียใจ เพราะเป็นการปิดกั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเช่น ตอนนี้หนูคิดยังไง รู้สึกยังไง ถ้าเด็กอยากพูด ผู้ใหญ่ต้องฟัง พร้อมเข้าหาเด็กด้วยท่าทีที่พร้อมจะเข้าใจ เมื่อเด็กได้รับความเป็นมิตรและความห่วงใยจากคนที่เข้าไปหาจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกว่ามีคนที่พร้อมจะช่วยเขาหรือเป็นที่พึ่งให้กับเขาอยู่ข้างๆ
5. หาญาติหรือคนที่สนิทสนมคอยปลอบ ในกรณีที่เด็กสูญเสียพ่อแม่ ถ้าเราหาคนที่สนิทสนม เช่น ญาติพี่น้องที่สนิทสนมที่ยังเหลืออยู่ หรือคุณครูหรือใครก็ได้ที่เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกปลอดภัยได้มากขึ้น
6. ในเด็กโตอาจสอนในเรื่องของการผ่อนคลาย เช่น เมื่อไรที่เขาเกิดความเครียด กลัวหรือวิตก ให้ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกการหายใจ
การทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง พอเด็กผ่อนคลายและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว
ความรู้สึกที่ดีๆ ต่างๆ จะกลับมา
สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก พ่อแม่ต้องมองปัจจุบันให้เป็นด้านบวก เช่น ยังดีนะที่ลูกไม่เป็นอะไร ยังมีชีวิตอยู่ด้วยกัน ยังได้เจอหน้ากัน
ซึ่งการมีมุมมองเป็นบวก จะทำให้เด็กหรือลูกมีกำลังใจ ดังนั้นคำพูดที่ควรพูดกับลูก เช่นว่า เราได้อยู่ด้วยกันตลอดไป เดี๋ยวเราค่อยๆ
สร้างบ้านกันใหม่ อาจรอนิดนึง แต่เชื่อว่าเราจะทำตรงนี้ได้ ตอนนี้ยังดีที่ลูกยังปลอดภัย ไม่เป็นอะไร มีหลายคนที่พร้อมช่วยเรา