Tic Disorder โรคกล้ามเนื้อกระตุกโดยที่ไม่ตั้งใจ คุณพ่อ คุณแม่ และคุณครู จะช่วยเหลือเด็กได้อย่างไรบ้าง


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

อาการกล้ามเนื้อกระตุกโดยที่ไม่ตั้งใจ (Tic) คือ อาการที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายมีอาการกระตุกขึ้นมาเอง อาจควบคุมได้บ้าง แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กล้ามเนื้อตามตัวกระตุก (Motor tic) และอาการส่งเสียง (Vocal tic)


กล้ามเนื้อตามตัวกระตุก (Motor tic)

ส่วนใหญ่จะเริ่มมีการกระตุกของกล้ามเนื้อที่ใบหน้าก่อน เช่น กระพริบตาถี่ๆ ยักคิ้ว ย่นจมูก ปากขมุบขมิบ โดยตำแหน่งกล้ามเนื้อที่กระตุกจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางคนอาจมีการกระตุกลามไปที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
• กล้ามเนื้อคอ เช่น คอบิด สะบัดคอ
• กล้ามเนื้อไหล่และแขน เช่น ยักไหล่ เหวี่ยงแขน
• กล้ามเนื้อส่วนขา เช่น แกว่งขา
• ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย



อาการส่งเสียง (Vocal tic)


พบได้น้อยกว่าอาการกล้ามเนื้อตามตัวกระตุก ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการส่งเสียง มักจะเป็นหลังจากที่มีกล้ามเนื้อตามตัวกระตุกมาก่อนหน้านี้แล้ว อาการที่พบ เช่น กระแอมไอ ส่งเสียงอึกอัก เสียงสะอึก เสียงเหมือนสูดน้ำมูก (บางครั้งเด็กจะได้รับการตรวจเรื่องภูมิแพ้ แต่ไม่พบความผิดปกติ) บางคนอาจเปล่งเสียงออกมาเป็นคำที่มีความหมายหรือไม่มีความหมาย


โรคกล้ามเนื้อกระตุก


ลักษณะและการดำเนินโรคกล้ามเนื้อกระตุก


มักเริ่มมีอาการตอนวัยประถม เด็กที่เป็นโรคนี้บางคนรู้ตัวว่ามีกล้ามเนื้อกระตุกหรือเปล่งเสียง บางคนก็ไม่รู้ตัว อาการดังกล่าวจะเป็นๆ หายๆ เปลี่ยนตำแหน่งกล้ามเนื้อที่กระตุกหรือเปล่งเสียงไปเรื่อยๆ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีความเครียด อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า อุณหภูมิที่หนาวหรือร้อนจนเกินไป ในเด็กโตที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มจับอาการนำ (Urge) ก่อนที่จะมีอาการกระตุกได้ คือ ก่อนหน้าที่กล้ามเนื้อจะกระตุกหรือเปล่งเสียง บริเวณที่กำลังจะมีอาการนั้นจะรู้สึกยิบๆ เกร็งๆ ซ่าๆ ตึงๆ พอมีความรู้สึกนี้ เด็กอาจพยายามกลั้นไม่ให้มีอาการได้ แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก หากปล่อยให้มีอาการเด็กจะรู้สึกผ่อนคลาย โดยทั่วไปเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาการของโรคจะค่อยๆ หายไปหรือลดลง ส่วนน้อยที่จะเป็นจนถึงวัยผู้ใหญ่


สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อกระตุก


เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมีการทำงานผิดปกติ หรือการติดเชื้อบางชนิด


โรคที่พบร่วมได้บ่อย


มักพบโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า



โรคกล้ามเนื้อกระตุก


การรักษาและการช่วยเหลือ ต้องใช้วิธีการรักษาหลายอย่างร่วมกัน

ส่วนใหญ่จะเริ่มมีการกระตุกของกล้ามเนื้อที่ใบหน้าก่อน เช่น กระพริบตาถี่ๆ ยักคิ้ว ย่นจมูก ปากขมุบขมิบ โดยตำแหน่งกล้ามเนื้อที่กระตุกจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางคนอาจมีการกระตุกลามไปที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
1. การใช้ยา โดยปกติแล้วตัวโรคเองจะเป็นๆ หายๆ เป็นระยะ หากอาการที่เป็นไม่ได้รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก เช่น ถูกคนรอบข้างต่อว่าหรือล้อเลียนอย่างมาก สะบัดมือจนเขียนหนังสือไม่ได้ ส่งเสียงหรือกระตุกจนเสียบุคลิกอย่างมาก อาจไม่ต้องกินยา แต่ถ้าอาการเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน การกินยาจะช่วยลดอาการดังกล่าว โดยระยะเวลาของการกินยาไม่จำเป็นต้องกินตลอด กินเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงของอาการ
2. การรักษาโดยการฝึกควบคุมอาการ (Habit Reversal Training) ได้ผลดีในเด็กโตที่จับอาการนำ (Urge) ได้ และร่วมมือในการฝึก
3. การรักษาโรคที่พบร่วม เช่น โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน (LD) เนื่องจากหากโรคที่พบร่วมส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านต่างๆ เช่น การเรียน หรือมีความกังวลอย่างมาก ความเครียดที่เกิดขึ้นจะทำให้อาการของ Tic Disorder เป็นเพิ่มขึ้น
4. การทำความเข้าใจกับคนรอบข้าง ต้องเข้าใจว่าอาการที่เด็กเป็นไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ บางครั้งการที่คนรอบข้างต่อว่า ล้อเลียน ทัก หรือพยายามห้ามไม่ให้ทำ จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ยิ่งเครียดอาการจะเป็นมากขึ้น สิ่งที่ควรทำ คือ เพิกเฉยต่ออาการ (ไม่ทัก ไม่ล้อ ไม่ต่อว่า) หาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเครียดแล้วช่วยแก้ (ถ้าหาได้) เช่น มีอาการมากขึ้นตอนนั่งทำการบ้านนานๆ ควรให้เด็กพักผ่อนหรือเบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่นที่ผ่อนคลาย
5. เมื่อมีอาการตอนอยู่ที่โรงเรียน คุณครูต้องทำความเข้าใจกับเด็กคนอื่นๆ ว่าอาการของเด็กนั้นไม่ได้เกิดจากการเป็นโรคร้ายแรง ไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ขอความร่วมมือว่าห้ามทักล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม หากเด็กมีอาการมากช่วงที่ครูสอน อาจให้เด็กไปพักผ่อนก่อน
6. หลีกเลี่ยงการอดนอน การออกกำลังหรือใช้ร่างกายจนเหนื่อยเกินไป สถานการณ์ตึงเครียด หากต้องเผชิญ ควรฝึกทักษะการจัดการความเครียด

โรคกล้ามเนื้อกระตุก




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม