เด็กติดเกม พ่อแม่ช่วยได้


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์



“เกมไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็ก อย่าใช้เกมเพื่อหยุดพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก”


ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของเราต้องเปลี่ยนตามอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนที่เกือบทุกคนสามารถซื้อได้ โซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ ความไวและการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีพลิกโลกอื่นๆ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การเสพติดเกม ช่วงอายุของคนที่เสพติดเกมมักเป็นเยาวชน ตั้งแต่เด็กชั้นประถม มัธยม ไปจนถึงนักศึกษา แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคเสพติดเกมได้เช่นกัน

ในปัจจุบันการเสพติดเกมจัดเป็นโรคอย่างหนึ่ง ผลเสียที่ตามมาจากการเสพติดเกมเกิดทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัว ไปจนถึงสังคมส่วนรวม ดังนั้นการให้สังคมมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อที่คนในสังคมจะได้ให้ความช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟู


เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเสพติดเกม (Game Addiction) มีลักษณะพฤติกรรมครบ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้


1. เล่นมากจนเกินไป เล่นไม่รู้จักเวลา เพลิน ติดลม บางคนเล่นจนไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว หรือมีผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ

2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น
เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า

3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ ไอเทม และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกม

4. มีพฤติกรรมที่ไม่ดีตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม
เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง





เด็กติดเกม

สาเหตุของการเสพติดเกม

เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านชีวภาพกับด้านจิตใจและสังคม ปัจจัยด้านชีวภาพ สมองของคนเสพติดเกมมีวงจรการทำงานของสมองผิดปกติเหมือนคนที่ติดสารเสพติดจริง ทั้งด้านโครงสร้าง การทำงาน และสารสื่อประสาท แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมต้องเสพติดเกมเสมอไป ส่วนการเริ่มเล่นเกมถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่เป็นโรคเสพติดเกมมักพบร่วมกับโรคทางจิตเวช ปัญหาการเรียน ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น ปัจจัยที่สอง คือ ด้านจิตใจและสังคม ได้แก่ เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ อยากได้การยอมรับ การเล่นเกมชนะ มีชื่อเสียงในโลกของเกม ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย ทำให้เด็กควบคุมตนเองไม่ดี ขาดความรับผิดชอบ ปัญหาครอบครัวทำให้เด็กเครียดจึงเล่นเกมเพื่อระบายความเครียด การขาดต้นแบบที่ดีในครอบครัว และกลุ่มเพื่อนกดดันให้ต้องเล่นเพื่อยอมรับเข้ากลุ่ม



เด็กติดเกม

ผลเสียการเสพติดเกม

การเสพติดเกมส่งผลเสียหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัวที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ โรคอ้วน เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอดและหลอดเลือดดำจากการที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างอื่น อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อด้านพัฒนาการ การเข้าสังคมและพฤติกรรม เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมที่นั่งอยู่หน้าจอ ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ทำให้ทักษะสังคมไม่ดี ด้านการเรียน เด็กไม่ได้ทำการบ้าน ทบทวนหนังสือ ขาดสมาธิในการเรียน ใจจดจ่อแต่เรื่องเล่นเกม ผลการเรียนจึงลดลง ด้านการเงิน ผู้ปกครองอาจมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นทั้งทางตรง เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าเข้าร้านเล่นเกม ค่าซื้อไอเทม และทางอ้อม คือ การเล่นเกมทำให้ความสามารถถดถอย เด็กจึงขาดโอกาสในการเรียนคณะดีๆ อาจทำให้สูญเสียรายได้จากหน้าที่การงานที่ดีในอนาคต



แนวทางการป้องกันเด็กติดเกม

สำหรับแนวทางการป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม ต้องเริ่มต้นจากผู้ปกครองสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก สามารถพูดคุยตกลงกันได้ มีการฝึกให้เด็กควบคุมตนเองตั้งแต่ยังเล็ก เช่น จัดตารางเวลา ฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ผู้ปกครองควรมีความรู้เรื่องเกม ตรวจสอบอายุของผู้ที่สามารถเล่นเกมได้ ไม่ควรให้เด็กใช้มือถือหรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่าให้เด็กเข้าถึงมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ง่ายโดยไม่มีการควบคุม จัดระบบการเล่นเกมตั้งแต่ต้น และมีแนวทางการปฏิบัติ มีการลงโทษหากละเมิดกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ เช่น การเล่นเกมต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้เสียหน้าที่อื่นๆ ปิดกั้นการเข้าถึงเกมที่อันตราย จำนวนชั่วโมงที่เล่นได้ต่อวัน ช่วงระยะเวลาที่สามารถเล่นได้ วิธีการเตือนก่อนหมดเวลาเล่น และผลที่ตามมาหากฝ่าฝืนเล่นเลยเวลาที่ตกลงกันไว้ วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่โล่ง ให้ผู้ปกครองเฝ้าดูได้ วางนาฬิกาขนาดใหญ่ในตำแหน่งที่เด็กมองเห็นชัดเจน เพื่อควบคุมให้เล่นภายในเวลาที่กำหนด



ผู้ปกครองอาจแสดงท่าทีสนใจเล่นเกมกับเด็ก ชวนเด็กคุยและทำความรู้จักกับเกมที่เด็กชอบเล่น พยายามเบี่ยงเบนให้เด็กสนใจเกมอื่นที่มีส่วนดี หลีกเลี่ยงการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ความรุนแรง เมื่อสัมพันธภาพกับเด็กเริ่มดีขึ้น ค่อยๆ โน้มน้าวให้เด็กสนใจกิจกรรมอื่นทีละเล็กน้อย ชดเชยการเล่นเกม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากเด็กอาจป่วย จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคเสพติดเกมและโรคอื่นๆ ที่อาจพบร่วม เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม