การเสพติดเกม (Game Addiction)


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์


ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของเราต้องเปลี่ยนตามอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนที่เกือบทุกคนสามารถซื้อได้ โซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ ความไวและการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีพลิกโลกอื่นๆ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การเสพติดเกม ช่วงอายุของคนที่เสพติดเกมมักเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กชั้นประถม มัธยม ไปจนถึงนักศึกษา แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคเสพติดเกมได้เช่นกัน ในปัจจุบันการเสพติดเกมจัดเป็นโรคอย่างหนึ่ง ผลเสียที่ตามมาจากการเสพติดเกมเกิดทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัว ไปจนถึงสังคมส่วนรวม ดังนั้นการให้สังคมมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อที่คนในสังคมจะได้ให้ความช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟู



• เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเสพติดเกม (Game Addiction) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ครบ 4 ข้อ
1. เล่นมากจนเกินไป เล่นไม่รู้จักเวลา เพลิน ติดลม บางคนเล่นจนไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว หรือมีผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ
2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า
3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ ไอเทม และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกม
4. มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง

การเสพติดเกม คือ Game Addiction

• สาเหตุของการเสพติดเกม

เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม (Bio-Psychosocial factors)


o ด้านชีวภาพ (Biological factors)

มีการศึกษาวิจัยสมองของคนที่เสพติดเกม พบว่ามีวงจรการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือน คนที่ติดสารเสพติดจริง ทั้งความผิดปกติทางด้านโครงสร้าง การทำงาน และสารสื่อประสาท ที่ผิดปกติ แต่ละคนมีความเปราะบาง (Vulnerability) ต่อการติดเกมไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมจะต้องเสพติดเกมเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพียงแต่การที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) โรคดื้อต่อต้าน/เกเร (ODD/conduct disorder) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)



ตัวอย่างคำอธิบายความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างโรคทางจิตเวชและโรคเสพติดเกม เช่น
- โรคสมาธิสั้น (ADHD) การทำงานสมองของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะชอบการตอบสนอง ที่ฉับพลันทันไว ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่ การเล่นเกมสามารถตอบสนองต่อผู้เล่นได้ทันที เพียงแค่กดปุ่มบังคับ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอนาน และการเล่นเกมมีความแปลกใหม่ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยิ่งเล่นยิ่งติด มีการศึกษาพบว่า การเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้นด้วย ในทางกลับกันในเด็กปกติที่เล่นเกมมากๆ การทำงานของสมองจะเริ่มมีความผิดปกติ มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้ เช่น อดทนรอคอย ได้ลดลง ทำอะไรได้ไม่นาน ทำงานแบบขอไปที เพื่อที่จะรีบไปเล่นเกม

- โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีผลการเรียนไม่ดี คนรอบข้างมักจะตำหนิหรือแสดงท่าทีไม่ยอมรับเด็ก ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ที่ไม่ดี เมื่อไปเล่นเกมแล้วเด็กเล่นได้เก่ง มีสังคมเพื่อนในเกม ได้รับการชื่นชมยอมรับ เด็กจะรู้สึกตัวเองมีคุณค่า ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ การเล่นเกม ทำให้ไม่ได้ฝึกพัฒนาทักษะทางการเรียนที่บกพร่อง เช่น ไม่ได้ฝึกอ่านเขียน อาการของโรคจะเป็นมากขึ้น

- โรคซึมเศร้า (Depression) อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนี (Escape) จากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ เด็กจึงอยากที่จะอยู่ในโลกของเกม ปฏิเสธความพยายามในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริง ส่วนเด็กปกติที่เล่นเกมและมีสังคมอยู่ในนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ถูกกลั่นแกล้งในสังคมเกม (Cyber bullying) ติดเล่นเกมจนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง ทำให้ไม่มีเพื่อน รู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว นำไปสู่การเป็นซึมเศร้าในที่สุด


การเสพติดเกม คือ Game Addiction


o ด้านจิตใจและสังคม (Psychosocial factors) ตัวอย่างเช่น


- มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม (Positive reinforcement) เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
- การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถ ในการควบคุมตัวเองไม่ดี เมื่อเริ่มเล่นเกมแล้วจะติดพัน เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รู้หน้าที่ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนตักเตือน หรือแค่พูดห้ามไม่ให้เล่น แต่ไม่ได้ลงมือหยุดการเล่นเกมของเด็กอย่างจริงจัง
- ปัญหาครอบครัว (Family dysfunction) ทำให้เด็กมีความเครียดเกิดขึ้น เด็กเล่นเกมเพื่อเป็นการระบายความเครียด
- การขาดต้นแบบที่ดี (Poor role model) บางครอบครัวตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน
- มีกลุ่มเพื่อนที่โน้มน้าวกดดันให้ต้องเล่น (Peer pressure) ต้องเล่นเพื่อให้เพื่อนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม


การเสพติดเกม คือ Game Addiction

• สถานการณ์โรคเสพติดเกมในปัจจุบัน

ความชุกของพฤติกรรมเด็กติดเกมจากแต่ละงานวิจัยมีความหลากหลายมาก แตกต่างกันไปตาม แต่ละวัฒนธรรม พบความชุกตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปจนถึงร้อยละ 35


o ตัวอย่างข้อมูลการศึกษาเรื่องเด็กเสพติดเกมของไทย เช่น การศึกษาของชาญวิทย์ พรนภดล และคณะ 2552


- พบความชุกของเด็กเสพติดเกม ร้อยละ 14.4 หมายความว่าในเด็ก 100 คน จะมีเด็กเสพติดเกมประมาณ 14 คน
- มีการพัฒนาแบบทดสอบประเมินเรื่องการเสพติดเกม คือ Game Addiction Protection Scale (GAPS), Game Addiction Screening Test (GAST) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.healthygamer.net
- ช่วงปิดเทอม ในวันจันทร์-ศุกร์ เด็กที่เล่นเกมนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสติดเกมสูงขึ้น 3.5 เท่า ในวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กที่เล่นเกมนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสติดเกมสูงขึ้น 3.7 เท่า เด็กที่เล่นเกมนานกว่า 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีโอกาสติดเกมสูงขึ้นประมาณ 4 เท่า
- ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเด็ก เด็กที่ว่านอนสอนง่าย รับผิดชอบ มีระเบียบวินัย จะมีโอกาสไม่ติดเกม สูงกว่าเด็กที่ขาดลักษณะดังกล่าว 3.0 เท่า เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะมีโอกาสติดเกม สูงถึง 3.15 เท่า เด็กที่มีการใช้เวลาว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ มีโอกาสติดเกมน้อยกว่าเด็กที่ไม่ชอบทำกิจกรรมใดๆ 2.17 เท่า เด็กที่ชอบเล่นเกมออนไลน์มีความเสี่ยงต่อการติดเกมสูงกว่าเด็กที่ ไม่ชอบเล่นเกมออนไลน์เกือบ 4 เท่า
- ปัจจัยเกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดู การใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวทำให้เด็ก มีโอกาสไม่ติดเกมสูงขึ้นประมาณ 1.4-1.6 เท่า การมีกิจกรรมทำร่วมกันบ่อยครั้งจะสามารถ ลดโอกาสในการติดเกมของเด็กได้ 2.00-2.28 เท่า การฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ให้เด็กสามารถป้องกันการติดเกมได้สูงถึง 7 เท่า
- ปัจจัยเกี่ยวกับเพื่อนและสภาพแวดล้อม เด็กที่มีกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นเด็กเรียนหรือทำกิจกรรม จะมีโอกาสไม่ติดเกมสูงขึ้น 2.4 เท่า ถ้าเพื่อนสนิทส่วนใหญ่ไม่ชอบเล่นเกม เด็กจะมีโอกาสไม่ติดเกมสูงขึ้น 1.6 เท่า



o อดิลล่า และศิริชัย 2553 “ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมของเยาวชนไทย”

- ค่าเฉลี่ย 1,106.15 บาทต่อเดือน

­

- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเล่นเกมโดยตรงเฉลี่ย 763.82 บาทต่อเดือน ­

- ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและขนมที่เกิดขึ้นในระหว่างเล่นเกม 485.56 บาทต่อเดือน



การเสพติดเกม คือ Game Addiction

• ปัญหาผลเสียที่ตามมาจากการเสพติดเกม

การเสพติดเกมส่งผลเสียหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ พัฒนาการ สังคม พฤติกรรม ผลการเรียน และการเงิน

1. ผลเสียด้านสุขภาพ


- อาการทางกายที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ (Unexplained Somatic symptoms) เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัว

­

- เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต

­

- เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism) คือ เมื่อนั่งเล่นเกมนานๆ ร่างกายไม่ได้มีการขยับเคลื่อนไหว การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่ขาได้

­

- เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด (Pulmonary Thromboembolism) เมื่อ มีลิ่มเลือดเกิดที่ขา ลิ่มเลือดจะเดินทางจากขาไปยังปอดตามระบบหมุนเวียนโลหิต แล้วไป อุดตันที่ปอด ทำให้เสียชีวิตได้

­

- โรคอ้วน เกิดจากการที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างอื่น บางคนเล่นเกมไป กินไปด้วย

­



การเสพติดเกม คือ Game Addiction

2. ผลเสียด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ทำให้มีพัฒนาการทักษะสังคมไม่ดี ไม่ค่อยมีสมาธิ


- เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมที่นั่งอยู่หน้าจอ แม้จะมีการคุยกันกับเพื่อนที่อยู่ ในเกม แต่ไม่ได้เป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกพัฒนาทักษะทางสังคม การเสพติดเกมทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ เช่น มีเรื่องทะเลาะ กับผู้ปกครอง เด็กแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนเพื่อไปเล่นเกม



Responsive image

- มีงานศึกษาวิจัย พบว่า ความรุนแรงจากสื่อจะส่งผลให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะเด็กคิดว่าสิ่งที่เห็นในเกมเป็นสิ่งที่ยังทำได้ เด็กบางคนแยกแยะเรื่องจริงกับสิ่งที่อยู่ ในเกมได้ไม่ดี เกมต่างๆ จะมีการจัดเรตอายุที่เด็กสามารถเล่นได้เอาไว้ ผู้ปกครองต้องคอยตรวจสอบว่าเด็กเล่นเกมเหมาะสมกับอายุหรือไม่

- บางช่วงวัย เด็กจะต้องมีการฝึก สำรวจ เรียนรู้สิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีพัฒนาการด้านต่างๆตามปกติ การเล่นเกมอาจไปขัดขวางพัฒนาการได้ เช่น เด็กวัย 3 ปี ต้องฝึกจับดินสอ วาดภาพ ระบายสี แต่เมื่อใช้เวลาไปกับการเล่นเกม ทำให้ขาดโอกาสในการฝึกไป



การเสพติดเกม คือ Game Addiction

- เด็กที่เสพติดเกมจะมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ อดทนรอคอยไม่ได้ เพราะเวลา ที่เล่นเกม เมื่อกดปุ่มใดไป จะมีการตอบสนองตอบกลับมาทันที ภาพในเกมมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เกมส่วนใหญ่มักทำให้ผู้เล่นรู้สึกลุ้น ตื่นเต้น เร้าใจ แต่ในชีวิตจริงไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ต้องมีการอดทนรอคอยและความพยายามสม่ำเสมอ เช่น อยากเก่งวิชาเลข ต้องฝึกทำโจทย์ให้มาก อยากเก่งกีฬา ดนตรี ต้องมีการฝึกซ้อม ไม่มีอะไรที่ได้มาได้ง่ายๆ โดยไม่ใช้ความพยายาม ทำให้มีอาการคล้ายสมาธิสั้นได้



3. การเรียน ทำให้มีพัฒนาการทักษะสังคมไม่ดี ไม่ค่อยมีสมาธิ


- มีงานวิจัยหนึ่ง พบว่า ยิ่งเด็กวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมที่มีความรุนแรงมากเท่าไร จะส่งผลให้มีผลการเรียนที่ลดลงมากเท่านั้น

- เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมทำให้เด็กไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้ทบทวนหนังสือ ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ เวลาที่ต้องเรียนเด็กอาจใจลอย จดจ่อคิดถึงแต่เรื่องที่จะเล่นเกม



4. การเงิน


- สูญเสียเงินทางตรง เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าเข้าร้านเล่นเกม ค่าซื้อไอเทม

- สูญเสียเงินทางอ้อม เช่น การที่เด็กที่มีระดับสติปัญญาดี ตามปกติควรได้มีโอกาสได้เรียน ในคณะดีๆ แต่เมื่อติดเกมจนเสียการเรียน ทำให้ไม่สามารถเข้าคณะที่คะแนนสูงๆ ได้ เป็นการสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งที่จริงมีความสามารถในการประกอบอาชีพและสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่การเล่นเกมทำให้ความสามารถถดถอย ซึ่งเป็นการสูญเสียตัวเงินที่มองไม่เห็น (Invisible cost)



การเสพติดเกม คือ Game Addiction

• การป้องกันโรคเสพติดเกม
o ผู้ปกครองควรมีความรู้เรื่องเกม

- ควรพูดคุยและให้ความรู้สอดแทรกให้เด็กเข้าใจ และยอมรับว่าการเล่นเกมที่ดี ควรเลือกเกมอะไร เกมใดที่ไม่ส่งเสริมให้เล่น เนื่องจากเหตุผลใด

­

- ตัวอย่างประโยคที่ใช้คุยกับเด็ก เช่น

­

“หนูเล่มเกมอะไรอยู่...แม่ว่าน่าสนใจดี...สอนแม่เล่นด้วยสิ”


“กติกาของเกมนี้ ทำยังไงถึงจะชนะ”


“หนูรู้จักเกมนี้ได้ยังไง”


“เกมที่หนูเล่นมันทำอะไรได้บ้าง...แชทหรือรู้จักกับคนอื่นได้หรือเปล่า”


“หนูรู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้นจากการเล่นเกมนี้บ้างมั้ย”


“ถ้าเราอยากเล่นเกมนี้เก่งๆ มีวิธีอะไรบ้าง ซื้อไอเทมหรือเติมเงินยังไง”



การเสพติดเกม คือ Game Addiction

o ตรวจสอบอายุของผู้ที่สามารถเล่นเกมได้ (เรทเกม)

- แต่ละเกมมีความรุนแรง ความก้าวร้าว เรื่องทางเพศ หรือเรื่องไม่เหมาะสมอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ผู้ปกครองต้องดูแลไม่ให้เด็กเล่นเกมที่เกินอายุของเด็ก เพราะเด็กแต่ละวัย มีความเข้าใจ และความสามารถในการแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริง สิ่งที่สมควรทำกับห้ามทำที่แตกต่างกัน การเล่นเกมที่สื่อถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กอาจลอกเลียนแบบได้

­
o จัดระบบการเล่นเกมตั้งแต่ต้น

- ก่อนจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนเรื่องกติกาการเล่นเกม **ห้ามซื้อหรือให้เด็กใช้อุปกรณ์ที่เล่นเกม**

­

- การเล่นเกมต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้เสียหน้าที่อื่นๆ

­

- ควรกำหนดให้เล่นเกมได้หลังจากทำงานในหน้าที่เสร็จเรียบร้อย

­

- มีการปิดกั้นการเข้าถึงเกมที่อันตราย

­

- มีการคุยกันเรื่องประเภทของเกมที่จะให้เล่น อุปกรณ์ที่จะใช้เล่น จำนวนชั่วโมงที่เล่นได้ต่อวัน ช่วงระยะเวลาที่สามารถเล่นได้ วิธีการเตือนก่อนหมดเวลาเล่น และผลที่ตามมาหากฝ่าฝืนเล่นเลยเวลาจากที่กำหนดไว้ ต้องเขียนเป็นข้อตกลงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถทำตาม ได้จริง และมีการลงชื่อรับทราบ (Sign contract) จากผู้ใหญ่ในบ้านทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกความเห็นด้วย มีเอกสารบันทึกวันที่ และเวลาในการเล่น เพื่อป้องกันการถกเถียงกันว่าเล่นไปนานเท่าไร วันนี้ได้เล่นแล้วหรือยัง ตัวอย่างข้อตกลง เช่น

­

การเสพติดเกม คือ Game Addiction

1. ให้เล่นเกม Minecraft ได้ โดยใช้มือถือของพ่อหรือแม่ในการเล่นเท่านั้น ให้มาขออนุญาตก่อนเล่น

­

2. วันธรรมดาเล่นได้ 30 นาที หลังจากทำการบ้านเสร็จ ในช่วงเวลา 18.00 – 19.00 น. (เช่น เล่นตอน 18.15 – 18.45 น.) โดยนำการบ้านมาให้พ่อแม่ตรวจดูความเรียบร้อยก่อนเล่น

­

3. วันหยุดเล่นได้ 1 ชั่วโมง แบ่งเป็นครั้งละ 30 นาที ไม่ให้เล่นติดต่อกัน ให้เลือกเล่นช่วงเวลาที่ไม่ติดทำกิจกรรมอย่างอื่น

­

4. ก่อนหมดเวลา 10 นาที จะมีคนบอกเตือน ถ้าเล่นเกินจากเวลาที่กำหนดไว้ เช่น เล่นนาน 40 นาที (เกินไป 10 นาที) วันรุ่งขึ้นจะโดนลดเวลาการเล่นไป 10 นาที

­

5. ห้ามเล่นเกมก่อนนอน 1 ชั่วโมง หรือเล่นระหว่างการทำกิจวัตรอื่นๆ เช่น กินข้าว

­

6. หากแอบเล่นเกม ไม่ทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ งดเล่นเกมอย่างต่ำ 1 สัปดาห์ขึ้นไป

­

7. หากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่ได้เล่นเกมในวันนั้น ไม่สามารถเก็บเวลามาใช้ในวันอื่นได้

­

o ไม่ควรให้เด็กใช้มือถือหรืออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง

o อย่าให้เด็กเข้าถึงมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ง่าย โดยไม่มีการควบคุม

o อย่าใช้เกมเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือหยุดพฤติกรรมไม่ดี

เช่น เด็กซนหรือก่อกวนมาก เลยให้เล่น มือถือ เพื่อไม่ให้มาก่อกวน ไม่มีคนช่วยดูแล ผู้ปกครองต้องทำงาน เลยให้มือถือเพื่อที่ผู้ปกครอง จะได้ทำงานได้ เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น โวยวายเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ เลยให้มือถือเพื่อหยุดพฤติกรรมดังกล่าว เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน ต่อรองว่าต้องให้เล่นมือถือก่อนถึงจะยอมไปโรงเรียนวันรุ่งขึ้น

­

การเสพติดเกม คือ Game Addiction

o วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่ที่เป็นที่โล่ง

เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้เฝ้าดูได้

­

o ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด

หากจะเล่นในห้องที่มีประตูปิด ห้ามล็อคประตู ผู้ปกครองต้องสามารถสุ่มเข้าไปดูการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กได้

­

o วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง

หรือในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อที่จะควบคุมให้เล่นภายในเวลาที่กำหนดกันไว้

­

o พยายามจัดหากิจกรรมอย่างอื่นให้เด็กทำ

ชดเชยการเล่นเกม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ

­

o เมื่อมีการละเมิดกฎกติกาที่ตกลงกันไว้

- ทบทวนอย่างจริงจังว่าเกิดปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้ไม่สามารถทำตามกติกาที่ตกลงไว้ได้

­

- กำหนดมาตรการควบคุมเพิ่มเติม ถ้ายังทำไม่ได้อีกอาจเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น

­

- ไม่มีการต่อรอง ไม่ต้องอธิบายมาก หรือบ่นว่าหรือพูดเตือนซ้ำๆ หลายครั้ง แต่เน้นลงมือปฎิบัติให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

­

- ไม่สนใจปฏิกิริยาเด็กที่อาจบ่น โวยวาย ให้เพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่ดี

­

o การป้องกันที่ควรทำล่วงหน้าก่อนที่จะให้เด็กเล่นเกม

- ฝึกให้เด็กมีการควบคุมตนเอง มีการจัดตารางเวลามาตั้งแต่เล็ก ควรฝึกตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป

­

- สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกที่ดี เพื่อที่จะสามารถพูดคุยตกลงกันได้

­
o หากเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิกหรือลดการเล่นเกม

- ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับเด็ก พยายามทำความรู้จักกับเกมที่เด็กชอบเล่น

­

- หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือเกมที่ใช้ความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนให้เด็กมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี เมื่อสัมพันธภาพกับเด็กเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อยๆ ดึงเด็กให้มาสนใจ ในกิจกรรมอื่นทีละเล็กทีละน้อย

­
o หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็ก

เนื่องจากเด็กอาจ จะป่วย จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคเสพติดเกมและโรคอื่นๆ ที่อาจพบร่วม เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า

­


  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม