รับมืออย่างไรเมื่อเด็กมีความกังวลเกี่ยวกับการแยกจาก (Separation Anxiety)


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

ในชีวิตประจำวันทั่วไปเด็กต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้ต้องแยกจากกับคนที่รัก เช่น การไปโรงเรียน พ่อแม่ติดธุระต้องพาไปฝากไว้กับญาติ หรือมีการสูญเสียคนที่เด็กรักไปด้วยเหตุต่างๆ ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่เด็กรับรู้เรื่องคนรู้จักป่วย เสียชีวิต หรือคนที่เด็กรักและมีความผูกพันมากป่วยเป็นโควิดและต้องแยกตัวไปรับการรักษา หรือแม้กระทั่งตัวเด็กเองที่ติดเชื้อแล้วต้องไปอยู่สถานพยาบาลโดยที่ผู้ปกครองไม่ได้ไปอยู่ด้วย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดความกังวลในการแยกจาก (separation anxiety) จนบางครั้งอาจป่วยเป็นโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder-SAD)


ตามพัฒนาการปกติเด็กจะมีพัฒนาการด้านความคิด (cognitive development) เรื่องการมีภาพวัตถุอยู่ในใจ (object permanent) เป็นการรับรู้ว่าวัตถุนั้นคงอยู่แม้จะมองไม่เห็นอยู่ในสายตาก็ตาม ซึ่งจะเริ่มมีในเด็กอายุตั้งแต่ 8-9 เดือนขึ้นไป ทำให้เด็กเล่นจ๊ะเอ๋เป็น หาของที่เอาไปซ่อนได้ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเด็กจะมีความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากกับคนที่เด็กรักและผูกพัน (separation anxiety) มากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่มีอาการมากที่สุดเป็นตอน 15-18 เดือน หลังจากนั้นค่อยๆ ลดลงจนอายุ 3 ปีอาการนี้จะหายไป ลักษณะอาการ separation anxiety เช่น อาละวาด ก้าวร้าว ร้องไห้ โวยวาย เกาะแขนขาพ่อแม่ยื้อไม่ให้ไป ไม่ยอมออกจากบ้าน


หากเด็กมีอาการ separation anxiety มากกว่าเด็กในวัยเดียวกันและส่งผลเสียอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน พัฒนาการด้านต่าง ๆ และความสัมพันธ์กับผู้อื่น จัดว่าเป็นโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder-SAD) การวินิจฉัยโรคนี้ต้องสังเกตอาการหลายอย่างประกอบกัน


Anxiety

ลักษณะอาการที่พบได้ คือ
- เด็กมีความคิดวนเวียนด้านลบ กังวลอย่างมากว่าตัวเองจะต้องแยกไปอยู่ที่อื่นหรือแยกจากคนที่รัก
- กังวลกลัวคนที่รักจะป่วยหรือเจอกับอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
- กังวลกลัวมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง เช่น เด็กหลงทางสูญหาย ถูกลักพาตัวไป
- ไม่ยอมออกจากบ้านเพราะกลัวการแยกจาก
- ปฏิเสธการไปค้างคืนที่อื่นนอกบ้านโดยที่ไม่มีคนที่เด็กรักไปด้วย
- ไม่กล้าอยู่บ้านคนเดียวหรือไม่ยอมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีคนที่เด็กรักอยู่ด้วย
- ฝันร้ายซ้ำๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการแยกจาก
- มีอาการทางกายที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้บ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเด็กคิดไปล่วงหน้าว่าต้องแยกกับคนที่รักหรือเมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกจากกันจริง


SAD มักมีอาการเรื้อรังและนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชต่างๆ ตามมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เช่น โรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรควิตกกังวลอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการไปจนวัยผู้ใหญ่


สาเหตุของการเกิด SAD" มักเกิดตามมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เด็กมีความเครียดอย่างมากจากการแยกจากกับคนหรือสิ่งมีชีวิตที่เด็กรัก เช่น การเจ็บป่วย เสียชีวิตของคนใกล้ชิด พ่อแม่แยกทางกัน สัตว์เลี้ยงตาย การไปอยู่ที่อื่นนานๆ โดยคนที่เด็กรักไม่ได้ไปด้วย


ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็น SAD มากกว่าเด็กคนอื่น เช่น พื้นอารมณ์ (temperaments) ของเด็กที่เป็นคนขี้กังวล ประวัติการป่วยเป็นโรควิตกกังวลของญาติ สภาพแวดล้อมไม่มั่นคงปลอดภัย


เนื่องจากการแยกจากเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ เด็กเองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเมื่อต้องเกิดการแยกจากเกิดขึ้น ผู้ใหญ่รอบตัวเป็นคนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กผ่านเรื่องราวที่แย่ๆ ไปได้

Anxiety


วิธีการช่วยเหลือเมื่อเด็กกังวลเรื่องการแยกจาก


• เมื่อชีวิตเด็กต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เด็กต้องไปเข้าโรงเรียนอนุบาล พ่อแม่ต้องไปทำงานค้างคืนที่อื่น ผู้ใหญ่ต้องค่อยๆ บอกเด็กเพื่อให้เตรียมตัวเตรียมใจ โดยรูปแบบการบอกต้องเหมาะตามวัย

- เด็กวัยก่อนประถม เด็กวัยนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้และเข้าใจภาษา ดังนั้นการบอกเล่าต้องเป็นรูปธรรม เข้าใจง่ายผ่านวิธีการต่างๆ เช่น บอกผ่านการเล่านิทาน การเล่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ แยกจาก แล้วให้เด็กพูด วาดรูป หรือเล่นสมมุติเล่าระบายความคิดเห็นและความรู้สึกที่ มีต่อเรื่องนี้ โดยผู้ใหญ่ช่วยสอดแทรกวิธีการจัดการกับความกังวลที่จะเกิดขึ้นและ อารมณ์ที่มีร่วมด้วยหากเกิดการแยกจากขึ้นมา เช่น โกรธ เสียใจ


- เด็กวัยประถม เด็กมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น สามารถคุยกับเด็กได้ ควรบอกเล่าให้เห็น เป็นรูปธรรมชัดเจน บางกรณีอาจใช้วิธีเล่าเป็นเรื่องของคนอื่นก่อนเพื่อดูปฏิกิริยาของ เด็ก ถ้าเด็กมีข้อมูลและทำใจไปแล้วส่วนหนึ่งให้บอกเด็กไปตรงๆ แต่ถ้าเด็กยังไม่พร้อม ให้ค่อยๆ แจ้ง (หากยังพอมีเวลา)


- เด็กวัยรุ่น เด็กสามารถใช้ภาษาได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ สามารถคุยกันได้ตรงๆ จะบอกทั้งหมดใน ครั้งเดียวหรือค่อยๆ บอก ขึ้นอยู่กับท่าทีของเด็กแต่ละคน


Anxiety

• บอกเด็กว่าในช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ผู้ใหญ่จะติดต่อสื่อสารกับเด็กอย่างไร เช่น นัดเวลา VDO Call หรือมีกิจวัตรใดที่ผู้ใหญ่ทำให้เด็กได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น โทรมาปลุกตอนเช้า สำคัญที่ว่าพูดคำไหนต้องพยายามทำให้ได้ตามนั้น เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย (secure/trust)


• เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกจากไปจริง ให้บอกรัก กอด แสดงความใส่ใจ และสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะไม่ทอดทิ้ง บอกกำหนดวันเวลาที่จะกลับมาเจอ แต่ถ้าไม่แน่ใจเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อย่าไปสัญญา แต่ให้บอกว่า “จะพยายามรีบกลับมาหาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”


Anxiety

• ฝึกให้เด็กจัดการกับความกังวลเรื่องการแยกจาก เช่น ก่อนที่จะเข้าชั้นอนุบาล ให้พาเด็กไปอยู่บ้านญาติที่เด็กสนิทเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ก่อนที่จะพาไปต้องคุยกับเด็กก่อน


• แนะนำเด็กว่าตอนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน หากเด็กกังวลจะต้องทำอย่างไรที่ช่วยลดอาการ ตัวอย่างเช่น
- การพกของแทนใจ (transitional objects) เป็นสิ่งของที่เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เช่น ตุ๊กตา หมอนเน่า
- ให้ทำกิจกรรมที่เด็กชอบเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความกังวล


หากใช้ทุกวิธีแล้วเด็กยังมีอาการกังวลมาก เริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิต แนะนำให้พาไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อประเมินดูว่าเป็นปฏิกิริยาปกติที่พบตามวัยหรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เป็นโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder-SAD) เมื่อได้รับการวินิจฉัยและการช่วยเหลือดูแลรักษาอาการจะดีขึ้น ยิ่งรักษาเร็วเท่าไรจะลดผลเสียและเป็นการป้องกันโรคอื่นๆ ที่เกิดตามมา



Anxiety





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม