ดร. อภันตรี สาขากร
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้มีการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อมๆ กัน แบบค่อยเป็นค่อยไป และเกิดขึ้นอย่างถาวรในที่สุด อาการเริ่มแรก เช่น หลงลืมง่าย จำชื่อคนหรือสถานที่ไม่ได้ และมีการพูดถามซ้ำๆ เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อมมักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ดูแลควรคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง อย่างเช่น ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) จะเกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นโดยเฉพาะ ซึ่งความรุนแรงของอาการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ความจำเสื่อมเล็กน้อย ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เหมือนเดิม
มีการตอบสนองช้าลง ครอบครัวมักสังเกตไม่ได้
ระยะที่ 2 สมองเสื่อมมากขึ้น จำได้เฉพาะเหตุการณ์ในอดีต แยกตัวออกจากสังคม
มีอาการหลงลืม บุคคลใกล้ชิดจะสังเกตเห็นถึงความผิดปกติได้
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่รุนแรงมากขึ้น ต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป
ไม่รับรู้บุคคลหรือสถานที่ จำได้เฉพาะเหตุการณ์ในอดีต เดินหลงไปในที่ต่างๆ
แต่ยังสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆได้
ระยะที่ 4 เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว ซึมเศร้าง่าย วิตกกังวลง่ายหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าจำเหตุการณ์ปัจจุบันและอดีตไม่ได้ จำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารหรือยัง
พูดไม่เป็นภาษา กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีอาการเบื่ออาหาร
สำหรับการรักษา แพทย์จะพิจารณารูปแบบการรักษาให้กับผู้ป่วย มี 2 รูปแบบ คือ การรักษาโดยการใช้ยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จัดกิจกรรมช่วยกระตุ้นความจำให้กับผู้สูงอายุถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยฟื้นฟูและชะลอความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความจำและการรับรู้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ตัวอย่างเช่นดังนั้น ถ้าอยากมีสุขภาพจิตที่ดีในช่วงสูงอายุ ก็ควรต้องเริ่มดูแลร่างกายและจิตใจด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
• นำปฏิทินขนาดใหญ่ อ่านง่าย ให้ผู้สูงอายุดู แล้วถามนำว่า วันนี้วันที่เท่าไร เป็นวันอะไร
เดือนอะไร ปี พ.ศ.อะไร และฤดูอะไร
• นำนาฬิกาที่มีเข็มบอกเวลา มีตัวเลขอ่านง่าย ให้ผู้สูงอายุดู แล้วสอบถามว่า ช่วงนี้เป็นเวลาอะไร
กลางวันหรือกลางคืน ปกติเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง
• เปิดเพลงที่ผู้สูงอายุชอบฟังหรือคุ้นเคย นั่งฟังเพลงด้วยกันและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเพลง
เช่น ใครเป็นนักร้อง ชอบเพลงนี้เพราะอะไร ให้ผู้สูงอายุเล่าเหตุการณ์ที่จดจำได้
• นำรูปภาพสถานที่ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย เช่น บ้าน วัด ศาสนสถาน หรือสถานที่ท่องเที่ยว ที่เคยไป
ให้ผู้สูงอายุดูภาพและถามชื่อสถานที่ อยู่ที่ไหน จังหวัดใด ภาคอะไร
• นำดอกไม้ หรือใบไม้กลิ่นหอมที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย เช่น ดอกมะลิ ใบเตย ใบมะกรูด
มาให้สูดดมเพื่อกระตุ้นการรับรู้กลิ่น และให้ผู้สูงอายุบอกชื่อทีละกลิ่น
จากนั้น ทวนถามว่า “ทั้งหมดมีกลิ่นอะไรบ้าง ให้บอกชื่อกลิ่นอีกรอบ”
• นำรูปภาพ บุคคล สัตว์ ผลไม้ หรือสิ่งของต่างๆ ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย เช่น ภาพบุคคลในครอบครัว ภาพผลไม้ (กล้วย) ภาพสัตว์ (นก) เป็นต้น มาให้ดูและถามคำถาม ให้ผู้สูงอายุบอกชื่อทีละภาพ
กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความจำสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่สิ่งที่สำคัญกว่ากิจกรรมนั้น คือ ความพร้อมของผู้ดูแลในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลต้องมีความอดทน ใจเย็น มีภาวะอารมณ์ที่เหมาะสมและมีอารมณ์ขันเพื่อลดความตึงเครียด รวมทั้งช่วยปรับบรรยากาศการพูดคุยให้เป็นไปแบบสบาย ผ่อนคลาย ผู้ดูแลควรมีทักษะการสื่อสารกับผู้สูงอายุ เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงทุ้ม นุ่มนวล พูดสั้นๆ ไม่ตะโกนเสียงดัง พูดช้าๆ ชัดเจนเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจ บางครั้งผู้สูงอายุอาจใช้เวลานานในการนึกคำพูดหรือบางรายอาจตอบคำถามไม่ได้ ให้ลองชวนพูดคุย ให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย แล้วค่อยทบทวนคำถาม