รับมือยังไงกับคำว่า เรื่องแค่นี้จะเครียดทำไม


นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์


“เครียดทำไม เรื่องนิดเดียว...”
“ไม่เป็นเรา คุณไม่รู้หรอก”

หลายคนคงเคยเผชิญหน้ากับคำพูดที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ข้างต้นมาก่อน เมื่อรู้สึกเครียดมากกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ แต่คนที่อยู่รอบๆ กลับมองเห็นเป็นเรื่องเล็กที่ควรจัดการกับมันได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่แปลกที่คิดว่าคนอื่นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ได้ยืนอยู่จุดเดียวกัน เขาจึงไม่รู้และไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ต้องเจอมันรบกวนจิตใจมากแค่ไหน

ความเครียด เป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจที่มีต่อสิ่งที่ประเมินว่าแล้วเป็นภัยคุกคาม ซึ่งต่างคนต่างมีรูปแบบของสิ่งกระตุ้นความเครียด กลวิธีในการเผชิญหน้าและจัดการความเครียดแตกต่างกันไป รวมถึงต้นทุนที่มีอยู่ในตัวเองเพื่อรับมือกับความเครียดของแต่ละบุคคลก็อาจไม่เท่ากัน ดังนั้น ระดับความเครียดต่อปัญหาหนึ่งของแต่ละคนจึงไม่เท่ากันตามไปด้วย โดยบางคนอาจปรับตัวได้ ในขณะที่ใครอีกหลายคนอาจปรับตัวหรือรับมือกับมันไม่ไหวเลยก็ได้เช่นกัน

แน่นอนว่าการได้ยินคำพูดในทำนองว่า “มันเป็นเรื่องเล็ก” “ทำไมถึงจัดการไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดนั้น” หรือ “แค่นี้จะเครียดไปทำไม” สำหรับคนที่กำลังเครียดอย่างมาก ก็อาจทำให้บั่นทอนจิตใจไม่น้อยทีเดียว คำพูดเหล่านี้มักทำให้เกิดความคิดว่าตนเองไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เกิดความขุ่นข้องใจว่าคนอื่นไม่ได้มองมุมเดียวกับเรา เขาจะเข้าใจอะไร ส่งผลให้ความรู้สึกทางลบเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเศร้าและเครียดมากขึ้นอีกด้วย และนั่นอาจทำให้การปรับตัวต่อความเครียดแย่ลง


รับมือความเครียด

แล้วทีนี้...จะทำยังไงดีเมื่อต้องเจอคำพูดแบบนี้ ในทุกวันนี้มีโอกาสได้ยินคำพูดลักษณะนี้อยู่แล้ว สิ่งที่พอทำได้ คือ การประเมินตนเอง ดูว่าสภาพร่างกายและจิตใจได้รับผลกระทบจากปัญหาหรือคำพูดเหล่านี้มากแค่ไหน รวมถึงสามารถรับมือกับความรู้สึกทางลบในใจอย่างไรได้บ้าง ซึ่งอาจใช้กลวิธีในการเผชิญปัญหาเพื่อให้ปรับตัวได้ดีขึ้นดังต่อไปนี้


• จัดการแบบมุ่งเน้นอารมณ์
เมื่อรู้สึกไม่ดีมาก มีความกังวลหรือไม่สบายใจเกิดขึ้น หรือถ้อยคำเหล่านั้นรบกวนมากเกินไป จนประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ลดลง ควรถอยออกมาเพื่อสร้างระยะห่าง ยกตัวเองออกจากปัญหาเพื่อผ่อนคลายและสงบจิตใจก่อนกลับไปเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง ซึ่งสามารถใช้งานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจมาช่วยได้ เช่น การอ่านหนังสือ เล่นดนตรี เล่นกีฬา หรือนั่งสมาธิ

รับมือความเครียด


• จัดการแบบมุ่งเน้นปัญหา
หากประเมินแล้วว่าพร้อมจัดการปัญหา มีเวลา มีความรู้และประสบการณ์ หรือมีเครื่องมือพร้อมแล้ว ก็อาจลงมือจัดการสะสางปัญหาโดยตรง เพื่อให้ตัวกระตุ้นความเครียดหมดไป ระดับความเครียดจะลดลงตาม และเมื่อปรับตัวได้ ความภาคภูมิใจในตัวเองจะเกิดขึ้นและมีมุมมองที่ดีกับตนเองมากขึ้นอีกด้วย






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม