พิมพ์ชมพู ศรีถนอม
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
โรคแพนิก หรือ Panic Disorder
จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล ผู้ป่วยโรคแพนิกมีประสบการณ์กับ Panic Attack คือ ความรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจอย่างมาก โดยมีบางอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที สามารถแบ่งกลุ่มอาการแพนิกแบบง่ายๆ ดังนี้
1. สมอง อาการโคลงเคลง วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม คุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า
2. หัวใจ อาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น รู้สึกใจเต้นเร็ว
3. ปอด รู้สึกหายใจไม่สะดวก หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เข้า (Shortness of breath) จุกแน่นในอก
4. ทางเดินอาหาร อาการคลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง
5. ต่อมเหงื่อ มีเหงื่อออกมาก เหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า รู้สึกชา ร้อนวูบวาบ ตัวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้
อาการแพนิกกำเริบ ทำไมรู้สึกทุกข์ทรมาน
“เพราะอาการเหล่านี้เกิดขึ้นจริง”
ผู้ป่วยแพนิกจะมีบางอาการดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที คาดการณ์ไม่ได้ ไม่เลือกเวลา สถานที่ อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างรวดเร็ว รุนแรง คงอยู่เช่นนั้นประมาณ 5-10 นาที ไม่เกิน 30 นาที จากนั้นจะหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจ...
ต้องทุกข์ใจ สับสน เพราะผลตรวจทางร่างกายกลับบ่งชี้ว่า ตรวจไม่พบความผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายกังวลว่าจะเกิดอาการ Panic attack ซ้ำอีก จนไม่กล้าไปไหนหรือไม่กล้าอยู่ตามลำพัง จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เรียกว่า “Agoraphobia”
ถ้าอาการแพนิกกำเริบ ผู้ป่วยควรทำอย่างไร
สาเหตุของโรคแพนิก เชื่อว่ามีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น
• ต้องไม่ตกใจกลัว พยายามคิดว่าอาการแพนิกที่เป็นนั้น รุนแรงแต่ไม่อันตราย และไม่ทำให้เสียชีวิต
• พยายามควบคุมอาการแพนิกด้วยตัวเอง ได้แก่ นั่งทำใจให้สงบ ควบคุมการหายใจ อาการแพนิกจะสงบลงได้เอง
คนรอบข้างจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคแพนิกได้อย่างไร
• ตั้งสติ ไม่ตกใจกับอาการแพนิก ไม่ควรให้ผู้มีอาการอยู่ในที่มีคนหนาแน่นหรือมุงดูอาการ
• ให้ความมั่นใจว่าผู้ป่วย สามารถควบคุมอาการแพนิกจนสงบลงได้ด้วยตนเอง ไม่อันตราย อาการจะเป็นชั่วคราว
• ใจเย็น อดทน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ พูดให้กำลังใจ “เข้าใจว่าเกิดอาการขึ้นจริง ไม่ได้คิดไปเอง”
• ชวนพูดคุยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย หายใจเข้า-ออก ช้าๆ หรือวางมือไว้บนหน้าท้อง เพื่อให้รู้สึกถึงการหายใจ และหายใจได้ง่ายขึ้น
• เสนอตัวช่วยเหลือ เช่น “มีอะไรที่เราช่วยได้บ้างไหม” “อยากเปลี่ยนไปนั่งที่ที่สบายกว่านี้ไหม”
ผู้ป่วยโรคแพนิกควรดูแลตัวเองอย่างไร
ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงสารที่อาจกระตุ้นอาการแพนิก เช่น ชา กาแฟ สุรา เครื่องดื่มชูกำลัง และแม้อาการดีขึ้นแล้ว ก็ยังต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดรับประทานยาเร็วกว่ากำหนด เพราะอาการแพนิกเกิดจากสารเคมีในสมองเสียสมดุล เราต้องรับประทานยาเพื่อช่วยให้สารเคมีเหล่านั้นกลับมาสมดุลขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
• จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์. (2563). จิตเวช ม.อ. Practical handbook of PSU psychiatry. กรุงเทพฯ: สหมิตร พัฒนาการพิมพ์.
• มาโนช หล่อตระกูล และ ปราโมทย์ สุคนิชย์. (บรรณาธิการ). (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี Using DSM-5. กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
• ยาใจ สิทธิมงคล และคณะ. (บรรณาธิการ). (2561). การพยาบาลจิตเวชศาสตร์ Psychiatric Nursing. กรุงเทพฯ: บริษัท สแกนอาร์ต จำกัด.