อาการหายใจเร็วเกินไป (Hyperventilation Syndrome)


นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์

เราทุกคนมักคุ้นเคยกับอาการไม่สบายทางกายที่เกิดจากความเครียด เช่น อาการปวดท้อง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ แต่ยังมีอาการไม่สบายทางกายอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยแต่ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักว่าเป็นอาการไม่สบายทางกายที่เกิดจากความเครียด อาการที่กล่าวถึงนี้ก็คือ กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป (Hyperventilation Syndrome) ความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีความเครียด คนไข้จะมีอาการหายใจหอบลึกและมือเท้าจีบเกร็งเกิดขึ้นทันทีทันใด เป็นความผิดปกติที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจก็อาจจะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหรือก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้


อาการผิดปกติชนิดนี้มักเกิดกับเพศหญิงอายุประมาณ 15-30 ปี ที่มีจิตใจและบุคลิกภาพไม่แข็งแรงเมื่อมีเรื่องขัดใจ ตกใจ หรือโมโหฉุนเฉียวก็จะเกิดอาการกำเริบขึ้นทันทีทันใด เหตุที่เรียกว่ากลุ่มอาการ (Syndrome) นี้เนื่องจากว่าเมื่อเกิดอาการจะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันคือ มีการหายใจเร็ว หอบลึกและเมื่อเป็นอยู่สักพักใหญ่จะทำให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากเกินไป และรับก๊าซออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติ ความเป็นกรดด่างของเลือดในร่างกายเสียสมดุลทำให้แคลเซียมในเลือดจับกับสารโปรตีนมากขึ้น และทำให้มีแคลเซียมในรูปอิสระน้อยลง เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว จึงทำให้เกิดอาการมือเท้าจีบเกร็ง บางรายมีอาการชาที่ปลายมือ ปลายเท้า และรอบปากร่วมด้วย อาการผิดปกติเหล่านี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่คนไข้มักตกใจคิดว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง มีอันตรายถึงชีวิต เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอด และมักจะต้องไปโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉินเพื่อพบแพทย์โดยด่วนด้วยความเข้าใจว่าเป็นโรคทางกายร้ายแรง ทำให้ผู้ป่วยและญาติเสียเวลาและเงินทองในการเดินทางเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรับการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่จำเป็น


การเกิดอาการหายใจเร็วผิดปกติที่เกิดขึ้นในครั้งแรก ๆ มักต้องมีความเครียดมากพอสมควร แต่เมื่อเป็นหลายๆ ครั้ง อาการจะเกิดง่ายขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งเพียงแค่ถอนหายใจลึกๆ เฮือกหนึ่งก็เริ่มเกิดอาการได้แล้วการเกิดอาการขึ้นและต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง สามารถก่อให้เกิดปัญหาติดตามมาได้หลายประการ คือผู้ป่วยอาจจะกังวลและกลัวเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น และปัญหาความสัมพันธ์กับญาติหรือคนใกล้ชิดที่รู้สึกว่าเป็นภาระในการดูแล พาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรืออาจคิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ


Hyperventilation_Syndrome


ถ้าหากมีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดปัญหากับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้ป่วยควรรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากจิตแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีภาวะกลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป (Hyperventilation Syndrome) เมื่อเกิดอาการขึ้นควรทำดังนี้
1. ไม่ต้องตกใจต่ออาการที่เกิดขึ้น เพราะจะไม่มีอันตรายทั้งสิ้น พยายามควบคุมและตั้งสติโดยหายใจให้ช้าลง
2. ถ้ายังไม่ได้ผลควรใช้วิธีหายใจโดยใช้ถุงกระดาษครอบปากและจมูกไว้ การหายใจแบบนี้เพื่อนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่กระแสเลือด ช่วยให้เลือดลดความเป็นด่างลงและทำให้แคลเซียมในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะทำให้มือและเท้าหายจีบเกร็งในที่สุด
3. ญาติหรือคนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำ ควรปลอบและให้กำลังใจผู้ป่วย แต่ไม่ควรเอาใจใส่หรือตามใจผู้ป่วยจนเกิดเหตุ
4. ผู้ป่วยควรหาทางป้องกัน ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพจิตของตนเองให้แข็งแรงขึ้น ฝึกวิธีเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และฝึกผ่อนคลาย รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและลดโอกาสเกิดอาการ
5. หากยังไม่ได้ผล อาจต้องพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาหรือพิจารณาเรื่องการใช้ยาช่วยเหลือในการรักษาตามความจำเป็น





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม