โรคย้ำคิดย้ำทำ


ผศ. นพ.สมบัติ ศาสตร์รุ่งภัค
นพ.ยุทธนา องอาจสกุลมั่น
จิตเวชผู้ใหญ่ โรงพยาบาลมนารมย์

มนุษย์ทุกคนมีความกังวล และความกังวลก็ทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ความกังวลเป็นสัญญาณเตือนว่ามีอะไรบางอย่างกำลังคุกคามเราอยู่หรือเรากำลังจะเจออันตรายบางอย่าง ดังนั้นเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้ ถ้าเรารู้สึกกังวลที่ต้องไปสัมภาษณ์งาน เพราะเราอาจถูกปฏิเสธงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ถ้าความกังวลนั้นเป็นความกังวลจากความคิดของตนเอง และถ้าความคิดนั้นเป็นความคิดที่เราไม่น่ามีโอกาสที่จะทำตาม แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าจะทำ ยกตัวอย่างเช่น ขณะเดินผ่านศาลพระภูมิบังเอิญมีความคิดอยากตะโกนด่าศาลพระภูมิ เป็นต้น คนที่มีความคิดเช่นนี้บ่อย ๆ จะเกิดความรู้สึกกังวลมาก ซึ่งก็มักทำให้คน ๆ นั้นมีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อทำให้ความกังวลลดลง อย่างน้อยก็ชั่วคราว เช่น ไม่เดินผ่านศาลพระภูมิ ไหว้และขอโทษศาลพระภูมิทุกครั้งที่คิด ความคิดและพฤติกรรมที่กล่าวไปนั้นพบได้ในคนทั่วไปเช่นกัน แต่หากคน ๆ นั้นมีความคิดและพฤติกรรมดังกล่าวบ่อย ๆ จนรบกวนการทำงาน การเข้าสังคม หรือทำให้มีความทุกข์ เราก็สามารถบอกได้ว่า คน ๆ นั้นกำลังได้รับความทุกข์จาก “โรคย้ำคิดย้ำทำ”

หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อโรคนี้มาบ้าง บางคนก็ว่าเป็นความเจ็บป่วย บางคนก็ว่าเป็นนิสัยของคน ๆ นั้น เราลองมาทำความเข้าใจโรคนี้ให้ชัดเจนกันดีกว่าว่า “โรคย้ำคิดย้ำทำ” นั้นคืออะไร



ในทางการแพทย์เรามองกันว่า คนที่ถูกเรียกว่าป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ต้องมีอาการสำคัญ 2 ประการ ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ใจและสร้างปัญหาต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อาการดังกล่าว ได้แก่ อาการย้ำคิด (Obsession) และอาการย้ำทำ (Compulsion)


โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร


อาการย้ำคิด คือ การมีความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองซ้ำๆ โดยไร้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก เช่น คิดซ้ำ ๆ ว่าจะทำร้ายหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนที่ตนรัก คิดซ้ำ ๆ ว่าลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำ ๆ ว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล๊อคประตู เป็นต้น โดยที่ตนเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดความคิดเช่นนั้น



อาการย้ำทำ คือ พฤติกรรมหรือการกระทำการบางอย่างซ้ำ ๆ เพื่อป้องกันหรือช่วยลดความไม่สบายใจจากความย้ำคิดข้างต้น และเป็นการกระทำที่ตนเองก็รู้สึกได้ว่าไร้เหตุผล ไร้สาระที่จะกระทำแต่ก็หักห้ามจิตใจไม่ให้ทำไม่ได้ เช่น เช็คลูกบิดประตูหรือวาล์วแก๊สซ้ำ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปิดเรียบร้อยแล้ว ล้างมือซ้ำเพราะคิดว่ามือสกปรก เป็นต้น


ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไปพบแพทย์ทางกายมากกว่ามาพบจิตแพทย์โดยตรง อาการที่มาพบแพทย์ได้บ่อย ๆ เช่น แผลถลอกที่มือ มือเปื่อย เหงือกอักเสบจากการแปรงฟันบ่อย ๆ ในผู้ป่วยเด็กพ่อแม่อาจพามาตรวจด้วยปัญหาพฤติกรรมซ้ำ ๆ ของเด็ก



ในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์โดยตรง มักมาด้วยอาการย้ำคิดเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พฤติกรรมทางเพศและพฤติกรรมรุนแรง ส่วนอาการย้ำทำ เช่น ตรวจเช็คกลอนประตู ถามเรื่องเดิมซ้ำซาก ล้างมือ นับสิ่งของ การจัดวางของให้เป็นระเบียบซ้ำ ๆ ผู้ป่วยบางรายมาด้วยอาการย้ำคิดหลาย ๆ เรื่อง หรือย้ำทำหลาย ๆ พฤติกรรม ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก



โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร

กล่าวถึงสาเหตุการเกิดของโรคนี้ แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลักใหญ่ ๆ ดังนี้


1. ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่าในผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางชนิด เช่น สารเซโรโทนิน การทำงานของสมองส่วนหน้าและส่วน Basal ganglia รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมผิดปกติไปก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย



2. ปัจจัยด้านจิตใจ

ผู้ป่วยอาจมีความขัดแย้งในระดับจิตใต้สำนึก และพยายามใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความตึงเครียดในใจ แต่ไม่ได้ผล กลับส่งผลให้เกิดการแสดงออกเป็นอาการดังกล่าว



ลักษณะการดำเนินโรคนั้น จัดได้ว่าเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะหากมีอาการตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่อาการมักเป็นอย่างเฉียบพลัน บางรายจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ร้อยละ 50-70 มีความเครียดนำมาก่อน เช่น การตั้งครรภ์ ปัญหาทางเพศ ญาติหรือคนใกล้ชิดตายจากไป แม้ว่าคนเป็นโรคนี้จะป่วยเรื้อรัง แต่หลังจากได้รับการรักษาแล้ว กว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากจนใช้ชีวิตได้เกือบปกติ คงเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่อาการคงเดิมหรืออาจแย่ลง



มีการศึกษาติดตามกลุ่มเด็กที่เคยป่วยเป็นโรคนี้มานาน 2 ถึง 7 ปี พบว่า เมื่อโตขึ้นร้อยละ 43 ยังคงมีอาการรุนแรงเท่าเดิม ร้อยละ 45 มีอาการอยู่บ้างแต่อาจไม่ถึงกับรบกวนชีวิตประจำวันมากนัก มีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ที่พบว่าไม่มีอาการหลงเหลืออยู่เลย



การรักษาที่ดีที่สุด คือ การใช้ยาร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด

1. ยา

ยารักษาโรคย้ำคิดย้ำทำมีอยู่หลายขนาน ยาเหล่านี้ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน จนเป็นปกติ ซึ่งหลังจากรักษาอาการเป็นปกติแล้ว แพทย์ยังต้องให้การรักษาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีกระยะหนึ่ง จึงหยุดยา



2. พฤติกรรมบำบัด ฝึกเผชิญกับสิ่งที่กังวลหรือกลัวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ร่วมกับการพยายามไม่ให้ความสนใจกับอาการของโรค และหาวิธีป้องกันการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับไปทำหน้าที่ตามเดิมให้ได้มากที่สุด

โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์