โภชนบำบัดสำคัญอย่างไรกับผู้ป่วยจิตเวช


นพัตสรรค์ สิงห์สังข์
นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลมนารมย์


โภชนบำบัด คือ การใช้ความรู้ทางด้านโภชนาการเพื่อช่วยในการฟื้นฟูหรือบรรเทาอาการของโรค ให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ โดยการวางแผนเมนูอาหาร การให้คำปรึกษา การดัดแปลงอาหารเฉพาะโรค

สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีโรคทางกายร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะน้ำหนักเกิน รวมไปถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจ หรือ Eating disorder อาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่งผลต่อน้ำหนักที่ผิดปกติและเกิดการขาดสารอาหาร เช่น

โภชนบำบัด



• Anorexia Nervosa ผู้ป่วยคิดว่าตนเองอ้วนอยู่เสมอจนทำให้เกิดภาวะเครียดและเกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง มีความสนใจเรื่องพลังงานในอาหารทำให้จำกัดการรับประทานอาหาร จำกัดประเภทอาหารที่รับประทานเพื่อให้น้ำหนักลดลง ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน น้ำหนักต่ำกว่าปกติ โดยร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วยเป็นหญิงที่มีอายุอยู่ระหว่าง 13-30 ปี
• Bulimia Nervosa ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารเข้าไปมาก ควบคุมการรับประทานอาหารไม่ได้ หลังรับประทานจะรู้สึกผิด พยายามควบคุมน้ำหนักโดยการล้วงคอให้อาเจียนหรือใช้ยาระบาย เป็นต้น แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักสัมพันธ์กับความเครียดที่เพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาวในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
• Binge Eating Disorder ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารเร็วกว่าปกติในปริมาณมากทั้งที่ไม่รู้สึกหิว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอ้วนก่อนวัยอันควร พบบ่อยในช่วงอายุ 12-25 ปี โดยเพศหญิงเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย 1.5-6 เท่า แม้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่ความเครียด ผิดหวังจากการลดน้ำหนัก ไม่มั่นใจรูปร่าง รวมถึงโรคไบโพลาร์และโรคซึมเศร้า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้
• Night Eating Syndrome ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกหิวในมื้อเช้า ระหว่างวันรับประทานได้น้อย แต่จะหิวและรับประทานอาหารมากหลังหกโมงเย็น มักสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อมาหาอะไรรับประทาน มากกว่า 3 ครั้งต่อคืน และรู้สึกว่าการรับประทานอาหารมื้อดึกช่วยคลายเครียดได้ ถ้าไม่ได้รับประทานอาจนอนไม่หลับ แม้อาการนี้จะพบได้เพียงร้อยละ 1-3 ของจำนวนประชากร แต่ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคประจำตัว เช่น นอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงวัยทำงานก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากโดยไม่รู้ตัว



โภชนบำบัด


ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับทราบแนวทางการรักษา ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาเข้ารับคำปรึกษาจากนักกำหนดอาหาร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านโภชนาการและสารอาหาร มีหน้าที่ในการให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยประเมินภาวะโภชนาการ สอบถามพฤติกรรมการการรับประทานอาหาร จากนั้นวิเคราะห์วางแผนการให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมกับรายบุคคล โดยให้คำปรึกษาทางโภชนาการ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร วางแผนรายการอาหาร จัดมื้ออาหารในมื้อหลัก มื้อว่าง และจำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสมกับพลังงานที่ผู้ป่วยควรได้รับต่อวัน รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและสารอาหาร จากนั้นติดตามเพื่อดูว่าผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามแผนได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีความรู้สึกเชิงบวกกับอาหารที่รับประทาน และปรับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยทำงานร่วมกับแพทย์และสหวิชาชีพต่างๆ



อ้างอิงข้อมูลจาก


• กระบวนการให้โภชนบำบัด (Nutrition Care Process) โดย งานโภชนาการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
• Bulimia Nervosa โดย The National Eating Disorders Association (NEDA)
• คู่มือปฏิบัติงานโภชนาการในโรงพยาบาล โดย กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
• Eating Disorders: Anorexia, Bulimia, Binge Eating โดย WebMD





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม