สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฟังเพลงเศร้า


สดุดี อภิสุทธิพร
นักดนตรีบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์


"ลูกดิฉันกำลังเศร้าหรือเปล่าคะ เห็นเค้าฟังเพลงเศร้าตลอดเวลา"

"ผมชอบฟังเพลงเศร้าตลอดเวลา หมายความว่าผมซึมเศร้าใช่ไหม"

"เขาฟังเพลง แล้วเขาเศร้า แสดงว่าเขายังมีความเศร้าอยู่หรือเปล่า"

คนมักตีความการแสดงออกทางอารมณ์เชิงลบว่า เป็นการสะท้อนด้านมืดของตัวเองออกมา มันคือสิ่งไม่ดี จึงทำให้เข้าใจไปว่าการมีอารมณ์ลบเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่จะรู้สึกและแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแสดงออกว่า เศร้า หรือ ร้องไห้ อาจทำให้คนมองว่าเราอ่อนแอ ถ้าแสดงออกว่าโกรธ อาจทำให้คนมองเราเป็นคนรุนแรง กักขฬะ จริงๆ แล้วการแสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์บวกหรือลบนั้นเป็นกลไกตามธรรมชาติของมนุษย์ เหมือนเป็นการระบายของเสียที่อยู่ข้างในใจ เพราะฉะนั้นแล้วการที่เรารู้สึกเศร้าไม่ได้หมายความว่าเราอ่อนแอ และเราควรหาทางแสดงออกอย่างเหมาะสม เพราะถ้าเทียบกับการระบายน้ำเสีย เราก็ควรระบายน้ำเสียในบ่อบำบัดน้ำเสีย มันจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าระบายน้ำเสียสู่ทะเล

งั้นถ้าเราฟังเพลงเศร้า หรือ ชอบฟังเพลงเศร้า จะหมายความว่า เราเป็นคนที่มีแต่ความเศร้าหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราอาจต้องแยกบริบทความเศร้าออกมาสองประเภท คือ เศร้าจริง หรือ เศร้าทิพย์

ฟังเพลงเศร้า


ความเศร้าเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ถูกบรรจุในตัวมนุษย์อยู่แล้ว มันอาจถูกกระตุ้นขึ้นมาได้สองทาง คือ
1. เศร้าจริง จากสถานการณ์จริง เช่น แมวที่เลี้ยงตาย อกหัก ผิดหวังอย่างแรงจากบางเรื่อง
2. เศร้าทิพย์ จากงานศิลปะ เช่น ซีรีส์ ละคร ภาพยนตร์ ภาพวาด ภาพถ่าย สี ดนตรี การแสดง นิยาย



ฟังเพลงเศร้า


แรงจูงใจในการเลือกฟังเพลงเศร้า
• เมื่อเรากำลังเศร้าในชีวิตจริง หรือ เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เศร้า เช่น อกหักแล้วเศร้า อารมณ์จะดิ่ง ไม่สามารถกินหรือนอน อารมณ์ดิ่งอาจอยู่ยาวนานเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น เพราะเกิดจากเหตุการณ์จริง จึงส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นหลายๆ คนจึงอยากหาทางออกให้กับอารมณ์ดิ่งโดยการฟังเพลงเศร้า เพราะเพลงเศร้าเป็นตัวแทนการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก พูดแทนความในใจ และเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่
• รสนิยมการฟังเพลง อาจเป็นคนที่ชอบฟังเพลงเศร้าอยู่แล้ว ซึ่งรสนิยมนั้นไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไมเราถึงชอบ เหมือนคนที่ชอบกินเผ็ด หรือชอบดูหนังฆาตรกรรมเลือดสาด คนที่ชอบดูหนังฆาตกรรมไม่ได้หมายความว่าเป็นคนหัวรุนแรง อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการดูหนัง หรือฟังเพลงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สมมติ กล่าวคือ ไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์จริง ดังนั้นจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน



ในความเป็นจริงแล้ว ดนตรีสามารถดึงเอาอารมณ์พื้นฐานต่างๆ ออกมาได้ หากความเศร้าจะถูกดึงออกมาผ่านทางดนตรีก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเศร้าก่อนถึงจะเลือกฟังเพลงเศร้า


ฟังเพลงเศร้า


ในปี 2013 Ai Kawakami และคณะ ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการฟังเพลงเศร้า และค้นพบว่าการฟังเพลงเศร้าโดยที่คนธรรมดาที่ไม่ได้เศร้านั้นทำให้เกิด
1. เกิดความพึงพอใจ
2. สร้างความสำราญในการฟัง
3. รู้สึกถึงความโรแมนติก


ในทางกลับกันเมื่อคนเศร้าจริงๆ จากสถานการณ์จริงๆ การฟังเพลงเศร้าแล้วจิตใจจะรู้สึกอย่างไร จากการทดลองของ Annemieke J.M. Van den Tol และคณะ ในปี 2014 ได้ค้นพบว่า
1. กลับไปรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย้อนกลับไปรู้สึกถึงมันอีกครั้ง มีคนบางประเภทที่ต้องเจ็บให้สุด แล้วถึงจะ มูฟออนได้
2. รื้อฟื้นความทรงจำ เพลงได้ดึงเอาความหลังเมื่อครั้งยังฟังเพลงนี้
3. ได้รับความรู้ ความเข้าใจใหม่ ปรับทัศนคติ และเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ
4. เป็นเพื่อนทิพย์ เพื่อนที่เข้าใจ ยอมรับ และอยู่เคียงข้างในวันที่รู้สึกเศร้า
5. สังคม ฟังเพลงด้วยกันกับเพื่อนหรือครอบครัวเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น
6. เบี่ยงเบนความสนใจ เบี่ยงเบนความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต้องการอยากจะรับรู้
7. ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ทำให้รู้สึกดีขึ้น หรือเศร้าน้อยลง



โดยสรุปแล้ว การฟังเพลงเศร้าแบ่งเป็นสองประเภท คือ การฟังเพลงเศร้าเพื่อความบันเทิง และฟังเพลงเศร้าเพื่อปรับอารมณ์ แต่หากรู้สึกว่าการฟังเพลงเศร้าแล้วทำให้ใจจมดิ่งไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ขึ้นไป พร้อมกับมีความคิดไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการประเมินและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที



อ้างอิงข้อมูลจาก

• Sad music induces pleasant emotion โดย Kawakami, A., Furukawa, K., Katahira, K., Okanoya, K. จาก Frontiers in Psychology
• Listening to sad music in adverse situations: How music selection strategies relate to self-regulatory goals, listening effects, and mood enhancement. โดย Van den Tol, A. J. M., Edwards, J. จาก Psychology of Music





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม