ดร. อภันตรี สาขากร
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
โรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีววิทยา ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แต่ละบุคคลมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียด เศร้า กังวล ท้อแท้ แตกต่างกัน รวมทั้งมีปัจจัยด้านชีววิทยาที่แตกต่างกัน เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว เป็นต้น โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดทางสังคม จิตใจ หรือ การใช้ยาต้านเศร้า หรือใช้ทั้งสองวิธี
การทำจิตบำบัดเป็นวิธีการรักษาซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของทฤษฏีทางจิตวิทยา เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีในการลดอาการซึมเศร้าวิธีหนึ่ง จิตบำบัดมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ความเหมาะสมกับลักษณะของผู้ป่วย
จิตบำบัดแบบประคับประคอง
วิธีการนี้มีเป้าหมายช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกออกมาอย่างอิสระเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ วิตกกังวล ผิดหวัง ซึมเศร้า เบื่อตัวเอง ฯลฯ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ความไม่สบายใจที่เก็บสะสมมานานได้ถูกระบายออกมา ขณะเดียวกันนักจิตวิทยาจะให้ความช่วยเหลือด้วยการให้ความเชื่อมั่น ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกว่าชีวิตล้มเหลว สิ้นหวัง เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นอาจโทษตำหนิตนเองและมักมีความเชื่อไม่สมเหตุผล การทำจิตบำบัดรูปแบบนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยเห็นความคิดทางลบของตนเองและเรียนรู้วิธีคิดในทางที่เกิดประโยชน์มากขึ้น
จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีปัญหาการสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นตนเอง เก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม คิดหมกมุ่นกับปัญหาของตนจนไม่อยากทำอะไร จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัดจะให้ความสนใจกับพฤติกรรมในปัจจุบัน พฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยน ได้แก่ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน การปฏิบัติตามแผน การแก้ไขปัญหา และการฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำและทำจิตบำบัดได้ มีดังนี้
จิตแพทย์ ผู้สำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิตและศึกษาพิเศษเฉพาะทางด้านการบำบัดโรคจิตเวช
นักจิตวิทยาคลินิก
นักจิตวิทยาการปรึกษา
นักจิตวิทยา ซึ่งศึกษาอบรมและฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา รวมถึงการทำจิตบำบัดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
นักสังคมสงเคราะห์
ทางคลินิก
ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านสังคมสงเคราะห์ และได้รับการฝึกอบรม
หรือเรียนรู้ทางด้านความผิดปกติของจิตใจ
นักจิตบำบัดอื่นๆ
ผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาและแนวทางการบำบัดโรคซึมเศร้าเฉพาะทาง เช่น นักดนตรีบำบัด นักศิลปะบำบัด นักละครบำบัด นักกิจกรรมบำบัด รวมทั้งพยาบาลจิตเวช