Dead Inside รับมืออย่างไรกับ “ภาวะสิ้นยินดี”


ศุภัชญา ชูทอง
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


การใช้ชีวิตแบบ Day by Day ฟังดูอาจจะดี คล้ายกับการใช้ชีวิตแบบปล่อยวาง แต่หากเราใช้ชีวิตแบบไม่มีความรู้สึก ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่ยินดียินร้ายกับทุกสิ่ง ใช้ชีวิตเหมือนตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไว้ จากเคยมีความสุขกับสิ่งที่เคยชอบ สนุกกับสิ่งที่เคยทำ ตื่นเต้นกับการใช้ชีวิต ก็กลับเป็นชินชา ว่างเปล่าไปหมดทุกสิ่ง ไม่มีแพชชั่นหลงเหลืออยู่



ใช้ชีวิตแบบไม่มีความรู้สึก

5 เช็คลิสต์ คุณสิ้นยินดีหรือยัง?
1. รู้สึกไร้จุดหมาย ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
2. เกิดคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ เบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิต
3. รู้สึกเฉยชากับทุกสิ่งรอบตัว
4. แยกตัวจากสังคม
5. อ้างว้าง ว่างเปล่า

หากคุณมีอาการหรือความรู้สึกตาม 5 ข้อข้างต้น ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ก็โชคดีไป แต่หากอาการเหล่านั้นอยู่กับคุณนานและไม่ได้หายไป นั่นแสดงว่าคุณอาจเข้าสู่ “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Dead Inside แล้ว แม้ดูคล้ายการกับปล่อยวาง แต่ภาวะสิ้นยินดีนั้นอันตรายมาก เพราะจะทำให้เราหมดไฟไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ในอนาคต


ใช้ชีวิตแบบไม่มีความรู้สึก

มารู้จัก “ภาวะสิ้นยินดี” กัน
“ภาวะสิ้นยินดี” หรือ “Dead Inside” เป็นอารมณ์ที่ไม่อยากอะไรกับใคร เฉยๆ ชินชากับทุกสิ่ง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใครหรือสิ่งใด ที่ทำไปเพราะต้องทำ ไม่ใช่อยากทำ ไม่รับรู้ถึงความรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงความสุขทุกข์ใดๆ


รับมืออย่างไรกับ “ภาวะสิ้นยินดี”
1. การดูสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หากเศร้าแล้วยังอยู่เฉยๆ จะยิ่งทำให้เศร้า การขยับร่างกายจะช่วยให้ฮอร์โมนความสุขหลั่งออกมามากขึ้น เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การดูแลร่างกายตัวเองให้ดีขึ้น จิตใจของเราอาจกลับมามีชีวิตชีวาและมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
2. ทำกิจกรรมที่ต่างออกไป
การลองเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ค้นหาอะไรใหม่ๆ ออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ เจอเพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องหากิจกรรมที่สวยหรู ยิ่งใหญ่ ลองมองสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้น อาจช่วยให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ใช้ชีวิตแบบไม่มีความรู้สึก


3. หาแรงบันดาลใจพร้อมตั้งเป้าหมายใหม่
การตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ออกเดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ อาจเป็นจุดหมายหรือเป้าหมายสั้นๆ การได้พบเจอผู้คนที่แตกต่างจากเรา อาจทำให้เรามีมุมที่แตกต่างออกไป ช่วยให้เรามีแรงฮึด ตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจในการตื่นขึ้นมาตอนเช้าเพื่อให้รู้ว่าเราจะทำอะไรต่อไป
4. ระบายกับเพื่อนที่รู้ใจ ไว้ใจ
หากรู้สึกไม่มีความสุขและหนักหนาเกินกว่าที่เราจะเก็บไว้คนเดียวแล้ว การขอคำปรึกษาจากเพื่อน หาคนรับฟังหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบายความรู้สึกของตัวเองช่วยให้เราได้รับรู้ถึงสภาพปัญหา จัดการกับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

อย่าลืมว่าเราเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาที่มีความรู้สึกนึกคิด มีความรัก โลภ โกรธ หลง หากเราจะมีความรู้สึกเศร้า เหงา เสียใจ ทุกข์ใจ หรือแม้แต่มีความสุข ดีใจ ก็จงอนุญาตให้เรามีความรู้สึกนั้นๆ ได้ เพียงแค่ให้เรารู้จักรับมือกับอารมณ์เหล่านั้นที่จะเกิดขึ้น รู้เท่าทันกับอารมณ์ของตนเอง แต่หากเกินลิมิตที่ตัวเราจะรับไหว การพบหรือพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถช่วยให้เรารับรู้ถึงปัญหาและจัดการกับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม