How to หยุดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง


นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์


“ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำก็ได้”
“ยังไม่ใกล้เดดไลน์เลย รีบไปทำไม”
“วันนี้นอนก่อน เดี๋ยวตื่นมาทำเลย สัญญา”


หยุดผัดวันประกันพรุ่ง

หลายคนคงเคยมีความรู้สึกเช่นเดียวกับที่กล่าวไปในข้างต้น เมื่อเราต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าอยากทำเดี๋ยวนั้น เราก็เลยเลื่อนเวลาทำออกไป บางคนอาจกลับมาทำจริงๆ เมื่อเวลาผ่านไป แต่บางคนก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ถึงขนาดลืมไปเลยว่าต้องทำก็ยังมี สุดท้ายการผัดวันประกันพรุ่งแบบนี้ก็อาจส่งผลเสียกับหน้าที่ความรับผิดชอบได้ในบางกรณีเช่นกัน


ถ้าอย่างนั้น ทำไมบางคนถึงยังชอบผัดวันประกันพรุ่ง? เรื่องของ “แรงจูงใจ” เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้เราอาจมีมุมมองว่า คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งเป็นคนที่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจหรือไม่มีความรับผิดชอบ แต่หากมองอีกแง่มุม คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งอาจเป็นคนที่ยังไม่มีแรงจูงใจในขณะนั้นก็เป็นได้ จึงลงมือทำเมื่อรู้สึกว่ามีแรงจูงใจพร้อมแล้ว อีกประการหนึ่ง มีการค้นพบว่าคนที่ผัดวันประกันพรุ่งหลายคนเป็น “ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ” เริ่มลงมือทำเมื่อรู้สึกว่าตนเองพร้อมแล้ว มั่นใจแล้ว มีทุกอย่างครบพอสำหรับจัดการสิ่งนั้นแล้วจึงค่อยลงมือทำทีเดียว เพราะไม่อยากให้สิ่งที่ทำออกมามีข้อบกพร่องหลงเหลืออยู่ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงคิดว่าถ้าหากต้องทำแล้ว ก็รอทำให้เสร็จสมบูรณ์ไปเลยดีกว่า
ทั้งนี้ สำหรับบางคนที่มักลงมือตอนใกล้ครบกำหนด อาจเพราะรู้สึกว่าตนเองสามารถทำได้ดีกว่าภายใต้แรงกดดันที่พอเหมาะ ทำให้รู้สึกมีไฟ มีจุดมุ่งหมาย บางคนก็มองเป็นอะไรที่ท้าทายตนเอง เหตุผลของคนที่ผัดวันประกันพรุ่งนี้จึงมีหลากหลายต่างกันไป อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้มีอาการของโรคทางจิตเวชบางอย่างก็อาจทำให้มักผัดวันประกันพรุ่งได้เช่นกัน เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคสมาธิสั้น เป็นต้น


หยุดผัดวันประกันพรุ่ง


ข้อเสียของการผลัดไปเรื่อยๆ
แน่นอนว่าการผัดวันประกันพรุ่งย่อมมีข้อเสียเมื่อเกิดเป็นนิสัยที่ควบคุมไม่ได้ ที่เห็นชัดคืออาจส่งผลกระทบต่อกำหนดการหรือผลลัพธ์ การทำงานด้วยความรีบเร่งทำให้เกิดข้อผิดพลาด ไม่มีเวลาทบทวน หรือกินเวลาการทำงานออกไปจนล่าช้า รวมถึงยังส่งผลต่อมุมมองและความน่าเชื่อถือที่บุคคลอื่นมีต่อผู้รับผิดชอบอีกด้วย

เทคนิคหยุดการผัดวันประกันพรุ่ง
หาวิธีสร้างแรงจูงใจให้ตนเองว่าการทำให้เสร็จอย่างรวดเร็วให้อะไรกับเราได้บ้าง ซึ่งเราต้องมีการกำกับตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถทำได้ ตั้งเวลาและรางวัลให้กับตนเองเมื่อทำสำเร็จ ซึ่งรางวัลอาจไม่ใช่สิ่งที่หรูหราฟุ่มเฟือย แต่อาจเป็นการพักผ่อน การทำกิจกรรมที่ชอบ หรือใช้เวลากับสิ่งที่รัก

ทำทันที ทำเดี๋ยวนี้ ดีอย่างไร
การที่เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ทันหรือเร็วกว่ากำหนด ทำให้ยิ่งมีเวลาในการทบทวนตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และเราสามารถใช้เวลาที่เหลือในการทำสิ่งอื่นได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานอื่นหรือการผ่อนคลายตามต้องการ ทั้งยังทำให้บุคคลอื่นมีมุมมองในทางบวกต่อเราในแง่ของความรับผิดชอบ ความน่าไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ และความมีวินัยในตนเองอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก

• American Psychology Association. (2010). Psychology of procrastination: why people put off important tasks until the last minute. Retrieved July 15, 2022, from https://www.apa.org/news/press/releases/2010/04/procrastination
• Psychology Today. (2009). Procrastination. Retrieved July 15, 2022, from https://www.psychologytoday.com/us/basics/procrastination





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม