กฤษดา ทองทับ
(พยาบาลวิชาชีพ)
หลายคนคงเคยมีความรู้สึกท้อ ไม่สบายใจ ไม่อยากมาทำงาน หรือไม่อยากทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น คือ การขาดแรงจูงใจ
แรงจูงใจ เป็นสิ่งสำคัญที่นำพาให้คนเราสามารถปฏิบัติงานหรือกระทำในสิ่งต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จไปได้ด้วยดี แรงจูงใจในการทำงานนั้น มีแรงผลักดันหรือแรงกระตุ้นจาก 2 ทาง คือ
แรงกระตุ้นภายใน
1. การตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อกำหนดอนาคตและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
2. ความท้าทาย เป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จะกลายเป็นความท้าทายที่ทำให้เราก้าวไปจนประสบความสำเร็จ แต่ที่สำคัญเป้าหมายจะต้องไม่ไกลเกินตัว เพราะจะกลายเป็นความเพ้อฝันไม่มีวันจบสิ้น
3. ความมั่นใจ เราต้องมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในความสามารถ ความพยายาม ความพากเพียรและความอดทน ซึ่งจะนำมาสู่ความสำเร็จได้
4. คำมั่นสัญญา เราต้องมีคำมั่นสัญญากับตัวเราในการที่จะทำให้เป้าหมายที่วางเอาไว้ประสบความสำเร็จให้ได้ คำมั่นสัญญานี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราสร้างวินัยในตัวเอง เพื่อความสำเร็จที่ตั้งเอาไว้
แรงกระตุ้นภายนอก
1. บรรยากาศของสถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อม เชื่อว่าถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้เรามีแรงจูงใจที่ดีด้วย
2. เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร
3. กฎ กติกา ระเบียบ และการลงโทษ
4. การให้คำชมเชย หรือของรางวัลในความสำเร็จ
5. คำตำหนิ หรือการสอนสั่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เราประสบความสำเร็จ
6. สิทธิ ผลประโยชน์ รายได้ หรือสวัสดิการต่างๆ ที่พอเหมาะพอเพียง
เทคนิคง่ายๆ ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน คือ
1. รู้จักใช้ สร้างความฝันอย่างชาญฉลาด
2. ตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงานให้รอบคอบ เพื่อความสำเร็จในผลงานนั้น
3. หาความรู้รอบตัวมาประยุกต์ใช้
4. รู้จักแบ่งขอบเขตเรื่องงานกับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ
5. อย่าหยุดพัฒนาตนเอง
แม้บางเวลาอาจท้อถอย แต่หากเรายังมีฝัน เรายังมีพลังก้าวเดินต่อไป แรงจูงใจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราทุกคนทำความฝันให้เป็นจริง ที่สำคัญคือทำให้เราสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายในปัจจุบันด้วยรอยยิ้ม ด้วยความตั้งใจ บนพื้นฐานของความสำเร็จและเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้