“เงิน” ซื้อความสุขไม่ได้


นายแพทย์สุรชัย เกื้อศิริกุล
จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์

ถ้าเรามีความสุขสบายอยู่แล้ว แม้จะรวยขึ้นไปอีกหน่อย ความสุขก็ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วยสักเท่าไหร่ เข้าตำราที่ว่า เมื่อท้องอิ่ม ข้าวจานที่สองก็อร่อยสู้จานแรกไม่ได้นั่นเอง ถ้ามองอีกแง่หนึ่งเงินพันบาททำให้คนจนมีความสุขได้มากกว่าคนที่มีเงินแสนอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ถ้าใช้เงินไม่เป็น เงินก็นำมาซึ่งความทุกข์ได้เหมือนกัน


มีรายงานในวารสารจากประเทศอังกฤษว่า ประชาชนที่บอกว่าตนเองมีความสุขที่สุด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศไนจีเรีย เม็กซิโก และเวเนซูเอลา ส่วนประชากรที่มีความสุขน้อยอาศัยอยู่ในประเทศโรมาเนีย อาร์มาเนีย และรัสเซีย สำหรับทางสังคมจิตวิทยาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุขอาจมีน้อยกว่าที่เราคิด ความสุขจะสัมพันธ์กับสุขภาพเป็นอันดับแรก รองลงไป คือ ความมั่งคั่งและการศึกษา



ความสุข

จะมีสักกี่คนที่เห็นด้วยกับคำกล่าวเหล่านี้ ความจริงแล้วความสุขจากความร่ำรวยมีเงินทองเพียงอย่างเดียวเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนนัก คนโชคดีถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งจะมีความสุขในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักห้าปี ความสุขนั้นก็จางลงไปเหมือนกับวันเดิมๆ


ถ้าเงินซื้อความสุขไม่ได้ทั้งหมดแล้ว เราจะพบความสุขจากตัวเราเองบ้างได้ไหม? ลองศึกษาดูว่าคนที่บอกว่า “ฉันมีความสุข” เขาเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง ก็จะพบว่า การนับถือตนเองและเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งแรกที่พบ แต่ไม่ถึงขนาดไม่ฟังคนอื่น หรือยกตนข่มท่านจนอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ลักษณะต่อไปคือ การมีทัศนคติหรือความพึงพอใจที่ดีต่อโลกและชีวิต การรู้จักควบคุมตนเองได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมาควบคุมหรือตักเตือนบ่อยๆ และการเป็นคนเปิดเผย ชอบแสดงตัวหรือออกสังคม มีอุปนิสัยยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสม ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ


ความสุข


ความสุขของชีวิตในแต่ละคนมีปัจจัยแตกต่างกันออกไป แต่พบว่าความสุขเกิดจากตัวเองและสิ่งรอบๆ ตัวได้ ไม่ต้องไปหามาจากที่อื่น มนุษย์เชื่อว่าการไขว่คว้าจนได้มาซึ่งสิ่งที่ชอบหรือขาดหายไป เช่น เงินเป็นสะพานความสุข แต่ก็มักลืมนึกไปว่า สิ่งที่ขาดหายและต้องการจริงๆ คืออะไรกันแน่ (อาจไม่ใช่เงิน) สิ่งที่ขาดหายไปมักเกิดเมื่อมีการเปรียบเทียบ เช่น มีเงินอยู่หมื่นล้านก็มีความสุขดีแล้ว แต่ถ้าไปเห็นคนที่มีเงินมากกว่าก็คิดว่า ถ้ามีเงินมากขึ้นก็น่าจะรู้สึกดีกว่านี้


ความสุขเป็นความรู้สึกภายในของแต่ละคน คงยากที่จะให้คำจำกัดความได้ เหมือนกับการอธิบายถึง “สีแดง” ให้คนที่ตาบอดเข้าใจ แต่ใครๆ ก็รู้ว่า ความสุขมักมาพร้อมกับเหตุการณ์ที่น่ารื่นรมย์เสมอ เช่น การถูกรางวัล ได้เลื่อนตำแหน่ง เข้าพิธีแต่งงาน แต่บางครั้งความสุขอย่างลึกซึ้งและความพึงพอใจในชีวิตแบบเต็มเปี่ยมอาจเกิดตามหลังการได้ผ่านประสบการณ์ที่ทุกข์ยากมาก่อน เรียกว่า เกิด ego-shock หรือ post-traumatic growth เช่น พบในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรงหรือโรคมะเร็ง


ความสุขของชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและทุกคนก็ใฝ่หา แต่คงไม่มีใครมีชีวิตท่ามกลางความสุขอย่างเดียวโดยไม่เคยสัมผัสความทุกข์เลย และคงไม่มีใครนึกภาพได้ว่าจะเป็นเช่นไร ถ้าชีวิตไร้ความทุกข์ เพราะชีวิตไม่ได้ถูกสร้างมาให้ปกป้องตนเองจากความทุกข์เสมอไป





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม