Burnout สภาวะหมดไฟจากการทำงาน


นายแพทย์วิชชากร ตรีสุคนธ์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์


Burnout สภาวะหมดไฟจากการทำงาน คืออะไร
เมื่อพูดถึงสภาวะหมดไฟจากการทำงาน หลายคนอาจมีมุมมองในทางลบ มองว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องจริงหรือว่าเป็นความไม่อดทนของผู้ที่เป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อตกอยู่ในสภาวะเครียดเรื้อรัง ร่างกายและจิตใจของทุกคนสามารถเกิดความเหนื่อยล้า รู้สึกอ่อนแรงได้ ท้อได้ เป็นเรื่องปกติ สภาวะหมดไฟจากการทำงาน จึงเป็นภาวะความเครียดเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากบรรยากาศของการทำงาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ การเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

burnout


สาเหตุของสภาวะ Burnout
สาเหตุของภาวะหมดไฟจากการทำงาน แบ่งออกได้ 2 ปัจจัย
ปัจจัยแรก คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานที่ทำงาน ปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นเรื่องของบรรยากาศในที่ทำงานที่มีความกดดัน มีความคาดหวังที่สูง ความขัดแย้งในสถานที่ทำงาน มีระบบดูแลที่ไม่ดี ไม่ค่อยให้เกียรติผู้ร่วมงาน ภาวะเงินเดือนหรือผลตอบแทนที่ได้รับ ไม่เหมาะสมกับเนื้องานที่ได้ ก่อให้เกิดเป็นความรู้สึกที่ไม่พอใจ หรือจากตัวบุคคล ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีความคาดหวังต่อตนเองสูง มีความรับผิดชอบสูง จึงสร้างแรงกดดันตัวเองในการทำงานทุกอย่าง
ปัจจัยที่สอง คือ กลุ่มที่อยากช่วยเหลือ ยินดีรับงาน ช่วยเหลืองานทุกอย่าง โดยไม่เคยปฏิเสธงาน กลายเป็นการแบกรับภาระงานทุกอย่างไว้คนเดียว

burnout


สัญญาณเตือนสภาวะหมดไฟจากการทำงาน
หากพูดถึงสัญญาณเบื้องต้นของภาวะหมดไฟ อย่างแรกที่เห็นได้ชัด เริ่มจากตัวของบุคคลก่อน คนที่อยู่ในสภาวะนั้นเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย ไม่ค่อยอยากลุกไปทำงาน แต่ยังสามารถทำได้อยู่ เมื่อเป็นไปนานๆ ขึ้น สิ่่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ความรู้สึกว่าเราแตกแยก รู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจหรือเริ่มทำงานแล้วรู้สึกไม่สำเร็จเท่าที่ควร และสภาวะต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้นอกจากการแยกตัวในที่ทำงานแล้ว คือ เริ่มแยกตัวจากคนอื่น อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว รวมไปถึงสภาวะอารมณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป บางคนรู้สึกท้อแท้ บางคนก็รู้สึกผิดหวังในตัวเอง
เมื่อความกังวลมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่ค่อยมีความสุขกับการทำงาน หรือบางคนอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายตามมา เช่น อาการปวดท้องเหมือนเป็นโรคกระเพาะ ใจสั่น ใจเต้นแรง มีปัญหาการนอนหลับ หรือบางคนอาจกระทบไปถึงความสัมพันธ์ทางเพศ

burnout



ผลกระทบเมื่อเกิดสภาวะ Burnout
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมดไฟต่อการทำงาน เริ่มจากรู้สึกว่าไม่อยากไปทำงานเลย เกิดความรู้สึกว่าต้องแบกร่างขึ้นไปทำงาน หรือไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานต่อ รู้สึกหนัก ความคิดไม่แล่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวบุคคล คือ ด้านสุขภาพทางร่างกาย เมื่อเกิดความเครียดเยอะขึ้น สะสมไว้ก็ก่อให้เกิดโรคหรืออาการต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ ใจเต้นแรง ปัญหาการนอนหลับ ความต้องการทางเพศที่เปลี่ยนไป ส่วนปัญหาทางด้านจิตใจก็เจอได้ บางคนเริ่มรู้สึกเบื่อ ท้อกับงานที่ต้องทำ หากต้องทนต่อสภาพที่ไม่พึงพอใจนานๆ ก็อาจนำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าได้ มีความคิดวิตกกังวล รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ สูญเสียศรัทธาในตัวเอง สูญเสียศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานแยกตัวออกมา

burnout



Burnout ป้องกันได้
การป้องกันก่อนเกิดภาวะหมดไฟจากการทำงาน สิ่งแรกที่แนะนำให้เริ่ม คือ สังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าตอนนี้รู้สึกพึงพอใจในการทำงานหรือไม่ ความสุขที่ได้จากการทำงานอยู่ในระดับไหน ถ้าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่างานที่ทำสร้างแต่ความเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ต้องค้นหาสาเหตุแล้ว ให้ลองสังเกตที่การทำงานก่อน บรรยากาศในที่ทำงานเปลี่ยนไปไหม ความกดดันที่เกิดจากงานเปลี่ยนไปหรือเปล่า หรือรู้สึกว่าภาระงานที่เกิดขึ้นเยอะเกินไป งานนั้นสามารถแจกจ่ายให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้หรือไม่
รวมถึงบรรยากาศในที่ทำงานก็สามารถพูดคุยกับทีมได้ว่า เราอยากพูดคุยหรือสื่อสารกันอย่างไร ต้องการให้แต่ละคนพูดถึงกันแบบไหนในที่ทำงาน บางครั้งก็สามารถคุยกับหัวหน้าทีมได้ว่าตอนนี้เกิดสภาวะอะไรขึ้น อยากได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างอย่างไรบ้าง
ส่วนปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้ที่ตัวเราเอง เช่น การปรับลดความคาดหวังของตัวเองลง เพราะยิ่งคาดหวังมากว่างานจะประสบความสำเร็จก็เท่ากับยิ่งสร้างแรงกดดัน เราอาจแก้ไขได้โดยการแบ่งแยกย่อยเป้าหมายให้เป็นขั้นเล็กๆ เพื่อให้ได้เห็นก้าวต่อไปที่ชัดเจนว่าควรก้าวไปที่ตรงไหน และสามารถหันมองย้อนกลับมาดูได้ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง ซึ่งส่วนนี้ช่วยป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟจากการทำงานได้

burnout




ภาวะหมดไฟจากการทำงานสัมพันธ์อย่างไรกับโรคซึมเศร้า
ภาวะหมดไฟจากการทำงาน กับ ภาวะโรคซึมเศร้า เป็นคนละโรคกัน เพียงแต่ว่ามันมีจุดเชื่อมต่อกัน ภาวะหมดไฟจากการทำงานจะเกิดความรู้สึก ทุกข์ใจ ไม่มีความสุข เวลาที่จะเข้าไปทำงาน แต่เรายังสามารถคงความสุข จากการทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ ทำในสิ่งที่ชอบได้ แต่ถ้าเรายังอยู่กับภาวะหมดไฟในการทำงานไปนานๆ ความเครียดที่เรื้อรังจะส่งผลทำให้ ความสุข จากด้านอื่นๆ ในชีวิตหายไปด้วย จากเดิมที่เราอาจจะสนุกเวลาที่ได้ไปท่องเที่ยว สนุกเวลาที่ได้ไปพักผ่อน ซื้อของ ชอปปิง กลายเป็นว่าความสุขของตัวนี้ ถูกดึงออกไป จนกระทั่งไม่เหลือแรง ไม่เหลือความสุขอื่นๆ ในชีวิตเลย จะเรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าแล้ว



burnout



วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น
ในกรณีที่เกิดภาวะหมดไฟจากการทำงานแล้ว สิ่งที่ทำได้ทันที คือ การดึงตัวเองออกมาจากสภาวะการทำงานด้วยการขอลาหยุดงานหรือหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองมากขึ้น แต่ต้องอย่าลืมเช็กด้วยว่าเมื่อเราหยุดพักผ่อนหรือหาเวลาทำกิจกรรมอื่นแล้ว ใจของเรา ความคิดของเราและอารมณ์ของเรายังผูกอยู่กับการทำงานไหม หากยังรู้สึกหนักใจจากการทำงานอยู่ ยังมีความคิดวนเวียนอยู่กับงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเรารู้ทันในจุดนี้ก็ขอให้วางความคิดตรงนั้นลง แล้วจดจ่ออยู่กับเวลาของการพักผ่อน เวลาของตัวเราให้มากที่สุด
นอกจากการดึงตัวเองออกมาจากสถานที่ทำงานแล้ว การที่เราได้ปรึกษา ได้พูดคุยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนคนสนิท หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่ทำงานด้วยกันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ดีขึ้นจากภาวะนี้
ในกรณีที่ได้ทำสิ่งที่แนะนำไปแล้ว แต่ยังรู้สึกเหนื่อยล้า ความหมดไฟยังคอยรบกวนใจอยู่ สิ่งที่ทำได้ต่อไป คือ การขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ที่โรงพยาบาล

ท้ายนี้ เวลาที่พบเจอคนที่มีสภาวะเหล่านี้ สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ อย่าเพิ่งตัดสินเขา ลองเข้าไปคุย ลองเข้าไปถามว่าในตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่พอจะช่วยเหลือเขาได้บ้างไหม เพราะการที่เราทุกคนช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกัน และเห็นอกเห็นใจกันสามารถช่วยลดโอกาสเกิดสภาวะหมดไฟจากการทำงานลงได้






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม