อ้อมใจ ดำวรรณ
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร
เมื่อถึงวัยกลางคน หลายคนอาจได้ทำความรู้จักกับคำว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ คือ การคิดหมกมุ่นวนเวียนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตของตนเองจนส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ที่มักเกิดขึ้นกับผู้มีอายุระหว่าง 35-50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เป็นช่วงที่ได้สำรวจตรวจสอบตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเลวร้าย หากเปลี่ยนมาเป็นพลังบวก เป็นแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ก้าวข้ามวิกฤตนั้น
อาการแบบไหนน่าเป็นห่วง
หลากหลายวิกฤตที่เกิดขึ้น ประดังประเดเข้ามาในช่วงนี้ อาจเป็นเรื่องยากที่ทำให้ใครหลายคนยังไม่สามารถผ่านมันไปได้ จนเริ่มมีอาการรุนแรงที่สังเกตเห็นได้ชัดเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ควรไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำปรึกษาและการช่วยเหลือแล้ว
• คิดมาก นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ
• เบื่ออาหาร กินไม่ลง น้ำหนักลดต่อเนื่อง
• ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงาน งานมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
• เครียดจนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น ทะเลาะกับคู่รัก พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน
• เบื่อ หมดพลัง หมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
• รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
• ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ในชีวิตอย่างหุนหันพลันแล่น เช่น ลาออก หย่าร้าง ย้ายบ้าน
สาเหตุหลักของวิกฤตวัยกลางคนเกิดจากอะไร
วิกฤตวัยกลางคนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง 4 สาเหตุหลักหรือปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงวัยนี้ เช่น
1. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง คนในช่วงวัยกลางคน มีอาการของคนที่เข้าสู่วัยทอง ประสิทธิภาพในการทำงานช้าลง ส่งผลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย และเบื่อหน่ายตนเอง
2. ความเสื่อมถอยของร่างกาย ช่วงวัยนี้สภาพร่างกายอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด บางคนเริ่มมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ส่งผลให้ความคล่องตัวในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง
3. พบกับความสูญเสีย เช่น การเสียชีวิตของคนที่รักและผูกพัน ในช่วงวัยนี้มักพบกับการสูญเสียของคนที่ใกล้ชิดบ่อยมากขึ้น
4. ชีวิตไม่เป็นไปตามคาดหวัง เมื่อมาถึงช่วงวัยนี้ ชีวิตน่าเริ่มอิ่มตัวและประสบความสำเร็จตามที่คิดหวังไว้ ทั้งชีวิตคู่และการงาน แต่ก็ยังมีหลายคนที่ชีวิตยังไม่ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้รู้สึกกดดันกับตนเองและขาดความสุขกับชีวิต
วิกฤตวัยกลางคน ตั้งรับได้อย่างไร
1. เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง โฟกัสปัจจุบันมากกว่าอดีต เพราะทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้ชีวิตดีขึ้น ลองคิดและลงมือทำสิ่งที่วางแผนไว้
2. คุยกับคนที่มีพลังบวก ระบายความในใจ เมื่อมีปัญหาอย่าเก็บไว้คนเดียว พยายามออกไปคุยกับคนที่มีพลังบวก อาจเป็นเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือจิตแพทย์ก็ได้ การได้พูดคุยช่วยให้เราได้ระบายสิ่งที่เก็บไว้ออกมา ช่วยให้ได้ทบทวนและเป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง
3. กลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ลองกลับมาทำตัวเป็นนักเรียน เรียนรู้เรื่องที่สนใจอีกครั้ง แล้ววางแผนทำอย่างจริงจัง เช่น อบรม สัมมนา สมัครเรียนคอร์สออนไลน์ ช่วยให้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แล้วยังช่วยให้มุมมองต่อชีวิตของเราเปลี่ยนไปได้ด้วย
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยลดความเครียดและป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วย
5. ทำสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น การเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดี บรรลุเป้าหมาย และมีความสุข ช่วยให้เรามีความสุขตามไปด้วยได้เช่นกัน
วิกฤตวัยกลางคนเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นไป การมองอย่างเข้าใจ การเตรียมตัว และเตรียมใจเข้าสู่วัยนี้ทำให้ก้าวผ่านวิกฤตวัยกลางคนไปได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข