Resilience ล้มได้ ก็ลุกได้ ทักษะชีวิต สร้างความเข้มแข็งทางใจ


นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์


สังเกตหรือไม่ ทำไมบางคนถึงดีขึ้นจากเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ในบางคนก็ต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ก็คือความสามารถในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ยากลำบากนั่นเอง

Resilience คืออะไร ความสามารถในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ยากลำบาก หรือที่เรียกกันว่า Resilience เป็นทักษะทางจิตใจอย่างหนึ่ง ที่เป็นความสามารถในการรับมือหรือจัดการกับเหตุการณ์ยากลำบากที่ต้องเผชิญ รวมถึงรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกร่วมต่างๆ หรือผลกระทบที่ถาโถมเข้ามาใส่พร้อมกับเหตุการณ์นั้นด้วย เพื่อให้ตนเองสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นและกลับมาใช้ชีวิตต่อไปได้ ระดับของ Resilience ในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทำให้คนเรามีความเร็วในการฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในชีวิตไม่เท่ากันนั่นเอง

เปรียบเทียบ Resilience ให้เข้าใจได้ง่าย ก็เหมือนกับเมื่อคนเราสะดุดล้มลง เราอาจบาดเจ็บ เราอาจตกใจ แต่ต้องพยายามรวบรวมสติ จัดการกับความเจ็บและผลักดันให้ตนเองลุกขึ้นยืนก่อนจะก้าวต่อ ตรงจุดนี้เองที่ Resilience มีบทบาทเข้ามา คนที่ลุกได้เร็วและรับมือความเจ็บหรือความตกใจได้ดี สามารถเดินต่อไปโดยที่ปรับตัวเข้ากับภาวะหลังจากล้มลงได้ ทำให้ตนเองเข้มแข็งขึ้นและหายดีโดยไว ก็มักพบว่ามีความสามารถในการฟื้นตัวที่สูง

Resilience


Resilience เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย
Resilience เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมแต่ละคนถึงมีไม่เท่ากัน ในความเป็นจริงแล้ว ความสามารถในการฟื้นตัวนี้มีปัจจัยเกี่ยวข้องที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมีมุมมองแง่บวกต่อสถานการณ์ การมีความหวัง ความสามารถในการรับรู้และจัดการตนเอง การกำกับอารมณ์ หรือแม้แต่รูปแบบการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่ส่งผลระดับความสามารถในการฟื้นตัว ดังนั้นหากคนเรามีระดับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ต่างกัน ความสามารถในการฟื้นตัวก็จะต่างกันไปด้วย



Resilience


การสร้าง Resilience เพิ่มความเข้มแข็งทางใจ
การเพิ่มพูน Resilience เพื่อให้สามารถฟื้นตัวและเข้มแข็งหลังจากผ่านเหตุการณ์อันยากลำบากจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาวะทางใจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการดูแลร่างกายให้แข็งแรงเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบต่างๆ พักผ่อนเพียงพอเพื่อไม่ให้เหนื่อยล้าและมีกำลังทางความคิด แม้แต่การผ่อนคลายทางใจเพื่อลดความเครียด หรือหาการสนับสนุนทางอารมณ์จากผู้คนรอบข้างหรือสิ่งที่ชอบ ก็เป็นตัวเสริมความสามารถในการฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นในการปรับตัว นำเหตุการณ์ที่พบเจอมาเป็นประสบการณ์สำหรับการเรียนรู้ เปิดรับความคิด ความท้าทายหรือเป้าหมายใหม่ ไม่ยึดติดกับความผิดหวังหรือความล้มเหลว ไม่บีบบังคับกดดันตนเองจนเกินไป จะทำให้เรามีมุมมองที่ขยายกว้างขึ้นจนคิดหาหนทางต่อไปได้ ก็เป็นสิ่งที่ส่งเสริม Resilience ได้ดีเช่นกัน

บุคคลที่มีความเข้มแข็งทางใจจึงไม่ใช่บุคคลที่ไม่เคยพบเจอกับความยากลำบากหรือความเครียดแต่อย่างใด เพียงแต่การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวให้ดีขึ้นจากเหตุการณ์เหล่านั้น ให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้พร้อมสุขภาวะที่ดี เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง



Resilience


อ้างอิงข้อมูลจาก

• Building your resilience จาก American Psychological Association.
• Resilience in positive psychology: bouncing back & staying strong by Seph Fontane Pennock จาก Positive Psychology.
• Resilience จาก Psychology Today.





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม