คิดมากจนปวดหัว คิดเยอะจนเหนื่อยใจ คิดอย่างไรให้พอดี


หนึ่งฤทัย กล่ำเงิน
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์

การคิดมาก คิดเยอะ เป็นผลเนื่องจากความวิตกกังวล ยิ่งใช้เวลาในการคิดมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้น ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย หมดพลัง นอนไม่หลับ กระบวนการคิดและการตัดสินใจผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ เราจะสามารถควบคุมการคิดของเราได้อย่างไรได้บ้าง มาเริ่มกันเลยค่ะ


โรคแพนิก


1. โยนความเป็น Perfectionist ทิ้งไปซะ

ความเป็น Perfectionist คือ อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่จะทำให้เราต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบและไม่สามารถให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ทำให้ต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติเพื่อหาทางควบคุมทุกอย่าง ลองเปลี่ยนจากความต้องการความสมบูรณ์แบบเป็นความต้องการให้ทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ จะทำให้เราหันมา Focus กับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้และลดความกดดันลงได้มาก ความผิดพลาดไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ความผิดพลาดคือโอกาสการเรียนรู้ เพราะเราสามารถผิดพลาดได้ และเราก็สามารถแก้ไขความผิดพลาดได้เช่นกัน



คิดมาก


2. ปล่อยวางอดีต

คนที่คิดมาก ส่วนใหญ่มักยึดติดกับอดีต โดยเฉพาะความต้องการกลับไปแก้ไขสถานการณ์หรือการตัดสินใจบางอย่างในอดีต คิดวกวนซ้ำๆ ไม่ Move On ไม่อยู่กับปัจจุบัน ในเมื่ออดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้เราก็ควรปล่อยวาง เริ่มต้นด้วยการลองใจดีกับตัวเองบ้าง พัฒนาให้กลายเป็นรักตัวเอง ให้สามารถให้อภัยตัวเองในอดีตและเริ่มต้นใหม่กับปัจจุบันได้


คิดมาก


3. มองปัญหาตามความเป็นจริง

ความยาก-ง่าย ของวิธีการแก้ปัญหา หรือจัดการเหตุการณ์ยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับวิธีการมองปัญหาของแต่ละคน เมื่อมองปัญหาเล็กกว่าความเป็นจริง เราอาจต้องคิดแก้ปัญหาอยู่เรื่อยๆ และทางตรงกันข้าม เมื่อมองปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง เราอาจเปลืองแรงและเปลืองความคิดในการจัดการเกินความจำเป็น ทางออกที่ดีที่สุดคือการมองปัญหาตามความจริง ประเมินขนาดปัญหา/เหตุการณ์ตรงความเป็นจริง จะทำให้เราคิดวางแผนแก้ปัญหาได้ตรงจุด สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


คิดมาก


4. เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องราวของตัวเราเอง
การคิดมาก คิดเยอะ ส่วนหนึ่งเกิดจากเล่าเรื่องราวของตัวเองเชิงลบ เช่น คิดว่าตัวเองเป็นคนคิดมาก คิดว่าตัวเองไม่สามารถตัดสินใจได้ คิดว่าตัวเองไม่สามารถรับผิดชอบได้ กระบวนการคิดแบบนี้จะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ทำให้ต้องคิดซ้ำๆ วนลูป เราต้องรู้ทันความคิดและพยายามหยุดความคิดเชิงลบเหล่านั้น เปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องตัวเองเชิงบวก เช่น เราสามารถควบคุมความคิดตัวเองได้ เรามีอำนาจในการตัดสินใจ การรับรู้เหล่านี้จะช่วยให้ไม่ติดกับดักความคิด และเป็นอิสระทางความคิด


คิดมาก


5. ปลดปล่อยตัวเองจากจินตนาการ
การอยู่ในจินตนาการมากเกินไปก็เหมือนการล่องลอยอยู่ในอวกาศที่ไม่มีขอบเขต สามารถคิดจินตนาการได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งติดอยู่ในจินตนาการความคิดมากเท่าใหร่ ยิ่งห้ามความคิดได้ยากขึ้น หากจะปลดปล่อยตัวเองจากจินตนาการสู่โลกความเป็นจริง ควรเริ่มต้นด้วยการลงมือทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดเวลาในจินตนาการ ความคิดและกลับมาอยู่ในโลกความเป็นจริงมากขึ้น


คิดมาก


6. ระบายความคิดในหัวออกมาซะหน่อย
หากความคิดเยอะเกินไป ไม่สามารถจัดการให้เป็นระบบได้ ลองหาวิธีปล่อยความคิดออกมาซะหน่อย อาจใช้วิธีการพูดในสิ่งที่คิด หรือเขียนสิ่งที่คิดลงกระดาษ เราอาจเข้าใจความคิดเรามากขึ้น และหาทางจัดการกับปัญหาที่ทำให้คิดมากได้


คิดมาก


7. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ยิ่งปล่อยให้ความคิดกัดกินเราไปเรื่อยๆ จะยิ่งสูญเสียความเป็นตัวเอง หากการจัดการความคิดด้วยวิธีต่างๆ ด้วยตัวเองแล้วยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาจต้องของความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางช่วยเหลือให้สามารถจัดการความคิดตัวเองได้

หากเริ่มคิดเยอะ คิดมาก อย่าปล่อยให้ความคิดของเราย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ลองฝึกควบคุมความคิดตามวิธีข้างต้นหรือค้นหาวิธีการควบคุมความคิดของตัวเอง เมื่อเราควบคุมความคิดของตัวเองได้ เราก็สามารถจะทำทุกอย่างที่เราต้องการได้





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม