รักษาซึมเศร้าด้วย dTMS


โรงพยาบาลมนารมย์

• TMS คืออะไร


TMS ย่อมาจาก Transcranial Magnetic Stimulation เป็นนวัตกรรมที่ใช้รักษาคนไข้ โดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วน dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation คือ การปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในตำแหน่งเดียวกัน ด้วยการผสมผสานของขดลวดแบบพิเศษทำให้สามารถเข้าถึงจุดที่ต้องการกระตุ้นได้มากกว่า TMS แบบธรรมดา โดยลงได้ลึกไปสู่จุดกระตุ้นที่อยู่ใต้พื้นผิวของกะโหลกศีรษะถึง 3 เซนติเมตร ซ่งลึกกว่า แล้วก็ปล่อยในตำแหน่งที่กว้างกว่า



dTMS

• รักษาโรคอะไรได้บ้าง


การรักษาด้วยเครื่อง dTMS ได้รับการอนุมัติจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ว่าสามารถรักษาอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือดื้อต่อการรักษา และโรคภาวะตื่นตระหนกหลังจากเจอความหวาดวิตก หรือ PTSD สำหรับโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ สมาธิสั้น ออทิสติก หรือวิตกกังวล ยังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูล


• TMS เหมาะกับใคร


เหมาะสำหรับรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และ PTSD เป็นหลัก ซึ่งเริ่มต้นใช้ TMS รักษาซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ดื้อยา โดยจะดีขึ้นอีกประมาณร้อยละ 50-70


• TMS ไม่เหมาะกับใคร


1. ผู้ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ติดตั้งอยู่ที่ศีรษะหรือบริเวณร่างกาย ระยะห่างจากหมวกอุปกรณ์น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
2. ผู้ที่มีวัสดุโลหะฝังอยู่ในร่างกายหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะใกล้กับบริเวณศีรษะ
3. ผู้มีประวัติโรคลมชัก โดยเฉพาะโรคลมชักที่ยังคุมอาการไม่ได้
4. ผู้มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะภาวะเลือดออกในสมองหรือหลอดเลือดสมองตีบที่อาการยังไม่คงที่
5. มีไข้หรือมีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ระบบ ตา หู คอ จมูก
6. สัญญาณชีพไม่คงที่หรือระดับความรู้สึกตัวลดลง


• dTMS รักษาภาวะซึมเศร้าอย่างไร


กลไกการออกฤทธิ์ของ dTMS แตกต่างกับยา คือ กระตุ้นสมองโดยตรง และกระตุ้นให้การทำงานของสมองกลับมาเป็นปกติได้ มีประสิทธิภาพสูงกว่ายา ปัจจุบันมีคนพยายามนำมาใช้ในผู้ป่วยซึมเศร้าที่ไม่ดื้อยา เป็นผู้ป่วยที่รับผลข้างเคียงของยาไม่ได้ รับการรักษามานานแล้วยังไม่ดีขึ้น ต้องการให้อาการดีขึ้นเร็วๆ หรือเป็นการรักษาร่วมกับการใช้ยา



dTMS

อีกกรณีหนึ่ง คือ ไบโพลาร์ที่มีภาวะซึมเศร้า ในผู้ป่วยไบโพลาร์ ถ้าเป็นระยะที่ซึมเศร้าแล้วมีข้อจำกัดในการใช้ยาอย่างมาก เพราะยาซึมเศร้าหลายชนิดสามารถกระตุ้นให้ไบโพลาร์กลายไปเป็นอารมณ์ดีเกินเหตุ ดังนั้น ยาจึงมีข้อจำกัด ผู้ป่วยจะไม่ค่อยฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้า แต่ตัว dTMS สามารถทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้โดยไม่ทำให้อารมณ์ดีเกินไป



dTMS รักษาโรคซึมเศร้าคล้ายการออกฤทธิ์ของยา ปกติสมองของคนเราทำงานโดยสารเคมี เมื่อปล่อยสารเคมีออกมา สมองจะมีการปล่อยประจุไฟฟ้าซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าสารเคมีจะออกมามากหรือมาน้อย การปล่อยสารเคมีหรือการรับสารเคมีของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะผิดปกติไป เป็นที่มาของประโยคยอดฮิตที่ว่า "คุณเป็นโรคสารเคมีในสมองผิดปกติ"


dTMS ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นสมองโดยตรง โดยเหนี่ยวนำให้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปปรับสมดุลทุกส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่กระตุ้น สารเคมีในสมองจึงกลับมาทำงานเป็นปกติ ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ หรือที่เรียกว่า Normalization



dTMS

• Normalization การกลับสู่ภาวะปกติ คืออะไร

คำว่า Normalization คือ การเหนี่ยวนำให้สมองส่วนต่างๆ กลับไปทำงานเป็นปกติ คนที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน บางคนซึมเศร้า บางคนกังวลเยอะ บางคนเฉื่อยๆ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะว่า สมองแต่ละส่วนของผู้ป่วยซึมเศร้า ทำงานมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ละคนมีสัดส่วนของอาการไม่เท่ากันด้วย


ในคนเป็นโรคซึมเศร้าสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์ และความกังวลจะถูกกระตุ้นได้ง่าย การรักษาด้วย dTMS จะทำให้สมองส่วนนี้ทำงานลดลง หรือ Sensitive น้อยลง หมายความว่า สมองส่วนที่ควรจะเยอะก็ต้องทำงานเยอะ ส่วนที่ควรจะทำงานน้อย ก็ต้องกลับไปทำงานน้อย นี่คือ Normalization




dTMS

การทำงานของ dTMS


dTMS เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณสมองส่วนหน้าในแต่ละครั้งจะกระตุ้นผ่านหมวกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะโดยจะกระตุ้น 2 วินาที และเว้นพักเป็นระยะเวลา 20 วินาที จึงกระตุ้นซ้ำต่อเนื่องไป 20-30 นาที ผลการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับจำนวนครั้งสะสมของการกระตุ้น แต่มีข้อจำกัดในการกระตุ้นแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 10-15 วัน หรือเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ (ความถี่และระยะเวลาในการกระตุ้นอาจขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย) ก่อนการรักษาจำเป็นต้องประเมินระดับอาการของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการติดตามการรักษาระหว่างและหลังการรักษา



dTMS

ภาวะแทรกซ้อน/ความเสี่ยงจากการรักษาด้วย dTMS


1. อาจทำให้เกิดอาการชัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ และในระหว่างการกระตุ้น หากรู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องมือทราบ โดยด่วน
2. อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน หลังการกระตุ้น อาการมักเป็นเล็กน้อยและมีอาการเพียงชั่วคราว อาจเกิดอาการรำคาญหรือไม่สบายที่ศีรษะ ขณะที่กระตุ้นและถูกรบกวนด้วยเสียงดังขณะทำการกระตุ้น


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาด้วย dTMS พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในคืนก่อนทำการรักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดความถี่สูง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนก่อนการรักษา อย่างน้อย 3 ชั่วโมง ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ตรวจวัดไข้และสัญญาณชีพอื่นๆ ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง หากมีอาการเจ็บป่วยอื่นหรือมียารับประทานเพิ่มเติมจากเดิมจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง


คำแนะนำหลังการรักษาด้วย dTMS การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดความถี่สูงทุกครั้ง อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและง่วงนอน หลังการกระตุ้นควรนั่งพักและดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการขับขี่รถหรือหากจำเป็น ควรขับขี่เมื่อรู้สึกพร้อมและควรระมัดระวังเป็นพิเศษ


หากสนใจรับบริการ dTMS ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ว่าเหมาะสมในการทำหรือไม่ เนื่องจากในการรักษาทุกอย่างต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อรักษาตรงกับโรค ความคุ้มค่าเพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ ค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูง หากผู้ป่วยใช้การรักษาด้วยยาที่้ราคาไม่แพงและหายได้ก็อาจไม่ต้องรักษาด้วย dTMS หรือหากรักษาไปแล้วอาการดีขึ้นไม่เต็มที่ dTMS จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้อาการดีขึ้นได้เต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 725 9595








  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม