เตรียมใจ ยอมรับ เมื่อสูญเสียคนใกล้ตัว


นายแพทย์ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์


ในแง่ของผู้ดูแลหรือครอบครัวที่ทราบชัดว่าโอกาสในอนาคตอันใกล้ เราต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป สิ่งที่สำคัญมาก คือ สติหรือจิตใจที่พร้อมดูแลเขาอย่างแท้จริง ความรักที่ให้เขาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การอยู่ใกล้ชิด การพยายามเข้าหาเขาอย่างปกติซึ่งช่วยให้เขามีกำลังใจมากขึ้น อย่างน้อยๆ เขาก็ไม่หันมาเป็นห่วงเรา หรือรู้สึกผิดหากเขาต้องจากไป

โดยส่วนใหญ่แล้ว ข้อแนะนำเบื้องต้นของผู้ดูแล มีดังนี้
1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค การดำเนินโรคอย่างเหมาะสมว่าผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากโรคที่เขาเป็นอยู่ อาการที่อาจเกิดขึ้นทางกาย ทางจิตใจ รวมทั้งความต้องการได้รับการดูแลจากคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตของบุคคลแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน หากผู้ดูแลให้ความสังเกตก็ช่วยให้พบว่า คุณภาพชีวิตที่แท้จริงของคนไข้แต่ละคนนั้นมีความหมายมากในเวลาที่เหลืออยู่

วิธีเตรียมใจเมื่อเกิดการสูญเสีย



2. อยู่กับเขาอย่างมีความสุขได้อย่างไร ต้องทราบว่าเราสามารถอยู่กับเขาอย่างมีความสุขได้อย่างไรบ้าง เช่น บางคนต้องการทำสิ่งที่ค้างคาใจให้จบสิ้น ยิ่งจบเร็วยิ่งดี เพื่อให้เขามีโอกาสมาอยู่กับปัจจุบันเยอะขึ้น และได้รับความสดใสงดงามกับปัจจุบันของเขาในเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง ผู้ดูแลจำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ให้เขาได้จัดสรรเวลา จัดสรรพลังงานในการดูแลตนเอง และคนที่เขารักได้อย่างเหมาะสม ผู้ดูแลบางคนยอมทุกข์เพื่อสุขของผู้ป่วย ตรงนั้นอาจนำมาซึ่งความเสียสมดุล ทำให้เขาขาดกำลังใจในระยะยาวได้



วิธีเตรียมใจเมื่อเกิดการสูญเสีย



3. รู้ความต้องการของผู้ป่วยในอนาคต ผู้ดูแลจำเป็นต้องรับรู้ความต้องการของผู้ป่วยในอนาคต ในเรื่องของการใช้หัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ในช่วงท้ายซึ่งประกอบกับการดำเนินของโรค ผู้ดูแลจำเป็นต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจแทนผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ ซึ่งส่วนนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยให้ในช่วงจิตสุดท้ายของผู้ป่วยได้รับการดูแลด้วย



วิธีเตรียมใจเมื่อเกิดการสูญเสีย



4. ได้เวลาลงสนาม เลือกคุยในช่วงเวลาที่แต่ละคนไม่วุ่นวาย เป็นสถานที่สงบและเป็นส่วนตัว พูดคุยด้วยท่าทีสงบและเป็นเหตุเป็นผล หลีกเลี่ยงการโต้เถียงด้วยอารมณ์ ถ้าคุยไปแล้ว เริ่มรู้สึกว่าเกิดข้อขัดแย้งหรืออารมณ์มากเกินไปอาจหยุดคุยกันก่อนได้


ท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดพรากหรือสูญเสียล้วนทำให้เกิดการสูญเสียทั้งสองด้าน ทั้งตัวผู้ป่วยเองที่อาจรู้สึกสูญเสียนำไปก่อนแล้วตั้งแต่ทราบว่าตัวเองเริ่มป่วย แม้ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องจากไปก็รู้สึกสูญเสียแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองให้ดีว่าไหวหรือเปล่ากับการวางใจที่เป็นกลาง หากไม่ไหวมาขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ รวมไปถึงญาติผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องยาวนานก็อาจเกิดภาวะสูญเสียได้เช่นกัน ตลอดจนผู้ที่สูญเสียไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่สำคัญว่าเราจำเป็นต้องกลับมาใช้ชีวิต ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติให้รวดเร็วและยุติธรรมกับตัวเอง หากสังเกตแล้วรู้สึกไม่ไหว จำเป็นต้องได้รับคำปรึกษา ขอให้อย่ารีรอ รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ทราบว่า เรายังมีศักยภาพที่ซ่อนเร้น พร้อมพัฒนาและเดินต่อกับชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างปกติสุุข






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม