ชนะศักดิ์ จิตมั่นคงธรรม
นักจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์
เมื่อเราได้สูญเสียสิ่งที่ผูกพันไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว ความสัมพันธ์ หรือความผูกพันที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ สิ่งของ สถานที่ ช่วงเวลา หรือสิ่งใดๆ ที่เราได้ให้คุณค่า ให้ความสำคัญ ในบางครั้งการพลัดพรากอาจเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดความทุกข์ใจ ไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะว่าใจเราได้สูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปจริงๆ
Dr. Elisabeth Kübler Ross จิตแพทย์ ชาวสวิส-อเมริกัน ได้สร้างรูปแบบในการอธิบายภาวะการสูญเสียขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ภาวะช็อคและปฏิเสธความจริง (Shock and Denial)
ช่วงแรกสุดของการรับรู้ว่าเรากำลังสูญเสียสิ่งที่รักไป มนุษย์เรามักเกิดภาวะช็อก ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ยังคงเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องบังเอิญหรือเกิดความผิดพลาดบางอย่าง แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการยอมรับสิ่งเหล่านี้ให้ได้
ระยะที่ 2 ความโกรธ (Anger)
ความโกรธเป็นอารมณ์แรกๆ สุดที่อาจแสดงออกมาผ่านทางความคิด พฤติกรรม หรือคำพูด แน่นอนว่าภายใต้ความโกรธอาจมีอารมณ์อื่นๆ ปะปนกันอยู่ข้างใน เช่น ความกลัว ความเศร้า ความสับสน ความรู้สึกผิด เป็นต้น
ระยะที่ 3 การเจรจาต่อรอง (Bargaining)
พอใจเราเริ่มยอมรับได้บ้างแล้ว แต่ก็อาจยังไม่สนิทใจ มนุษย์เริ่มเกิดการต่อรอง หาวิธีการอื่นๆ ในการจัดการ ขอความคิดเห็นต่างๆ จากคนอื่น เพื่อให้ใจรู้สึกได้ว่ายังพอมีอะไรที่สามารถควบคุมได้บ้างทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยภายในใจ
ระยะที่ 4 โศกเศร้าเสียใจ (Depression)
เมื่อเกิดการสูญเสีย ไม่ว่าในความสัมพันธ์ใดๆ อย่างไรแล้วความโศกเศร้าเสียใจก็เป็นของคู่กัน อาจเกิดเป็นอารมณ์เศร้าเล็กๆ ที่อยู่ภายใน จนถึงระดับความเศร้ารุนแรงที่สามารถพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้นในระยะนี้ จึงต้องพึ่งการดูแลตัวเองให้ดีจนกว่าจะก้าวไปถึงระยะต่อไป
ระยะที่ 5 การยอมรับ (Acceptance)
เป็นขั้นสุดท้ายในการยอมรับได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร การสูญเสียเป็นหนึ่งสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิต ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นประสบการณ์สากลที่ครั้งหนึ่งมนุษย์จะได้พบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้ว มนุษย์ก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง
ไม่มีใครบอกได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ปัจเจกคนมากๆ อาจเกิดขึ้นในระดับนาที วัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ก็แล้วแต่คน แต่อยากให้ตระหนักว่าในทุกเหตุการณ์นั้น เราได้ทำเต็มที่ที่สุดในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของการเป็นมนุษย์แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถคิดได้หรือเลือกได้ในช่วงเวลานั้นๆ ที่ผ่านพ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าลืมให้เวลาและพื้นที่ในการดูแลฟื้นฟูตัวเอง อย่าลืมขอบคุณตัวเอง และอย่าลืมให้อภัยตัวเอง ณ ปัจจุบันนี้ด้วย จนกว่าใจจะค่อยๆ ยอมรับและผ่านพ้นไปได้
อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถผ่านพ้นระยะเหล่านั้นไปได้ด้วยตัวเอง การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถเลือกได้ เพราะมนุษย์ไม่จำเป็นต้องผ่านพ้นทุกปัญหาไปด้วยตัวเอง