โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) คืออะไร


นายแพทย์อินทณัฐ ผู้สันติ
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์


โรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-Compulsive Disorder หรือ OCD เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างชัดเจน ซึ่งมีอาการแสดงหลักๆ คือ อาการย้ำคิดและอาการย้ำทำ อาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือต้องใช้เวลาจัดการกับอาการมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน อาชีพการงาน การเข้าสังคม หรือกระทบความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น


อาการย้ำคิด (Obsession) หมายถึง ความคิด ความเห็น ความอยากกระทำ มโนภาพต่างๆ ซึ่งมักเป็นในทางลบ หรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างมากและเกิดขึ้นในใจซ้ำๆ แบบควบคุมไม่ได้
อาการย้ำทำ (Compulsion) หมายถึง พฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออาการย้ำคิด เพื่อลดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ทรมานใจ เช่น ผู้ป่วยรู้สึกว่ามือของตนเองสกปรก ต้องล้างมือเพื่อลดความกังวลที่มือของตนเองสกปรก
ส่วนมากผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดหรือการกระทำของตนเองนั้น มีความไม่สมเหตุสมผล ไม่รู้ว่าตนเองคิดหรือทำซ้ำๆ ไปเพื่ออะไร
ทั้งนี้ อาการย้ำคิดย้ำทำ เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยรู้สึกตัวดีตลอด และไม่ได้เกิดจากอาการหูแว่วหรือหลงผิดในลักษณะที่ถูกบังคับทางความคิดและการกระทำเหมือนอย่างในกลุ่มโรคจิต

โรคย้ำคิดย้ำทำ


สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ


สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ สามารถจำแนกออกมาได้ ดังต่อไปนี้
1. พันธุกรรม มีการศึกษาเทียบโอกาสการเกิดโรคในกลุ่มทายาทในตระกูลของคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ จะสูงกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ 3-5 เท่า (แต่การศึกษาไม่ได้แยกปัจจัยอื่นที่อาจมีอิทธิพลต่อผลของการศึกษา เช่น การเลี้ยงดู หรือวัฒนธรรมประเพณี) และมีการศึกษาเทียบโอกาสการเกิดโรคจะเกิดในคนที่เป็นแฝดไข่ใบเดียวกันมากกว่าแฝดไข่คนละใบ
2. สารสื่อประสาทหรือสารเคมีในสมอง มีการศึกษาที่สนับสนุนในเรื่องการเสียสมดุลของสารสื่อสารประสาทที่ชื่อว่า “Serotonin” เกี่ยวข้องกับอาการย้ำคิดย้ำทำ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าการดเสียสมดุลของ Serotonin ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร แต่ยาที่มีผลต่อระดับ Serotonin ในสมองสามารถใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ
3. กายวิภาคทางสมอง จากการศึกษาการทำงานของสมองของผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วน Orbitofrontal Cortex, Caudate และ Thalamus ทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำมีความเกี่ยวข้องกับวงจรสมองที่เรียกว่า Coticostriatal Pathway
4. ปัจจัยทางความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมีแนวโน้มประเมินผลร้ายจากความคิดที่ผุดขึ้นมาของตนเองมากเกินไป ไม่สามารถอดทนต่อความกังวลที่เกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดการแก้ไขความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม เช่น การย้ำทำ หรือการหลบเลี่ยง อันเป็นสิ่งที่ยิ่งกระตุ้นให้ความคิดผุดขึ้นมาบ่อยมากขึ้น
5. ทฤษฎีพัฒนาการทางด้านจิตใจ จริงๆ รายละเอียดของทฤษฎีค่อนข้างยากที่จะทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงขออนุญาตอธิบายคร่าวๆ ว่า การเลี้ยงดูที่มีลักษณะเข้มงวดกวดขันมากเกินพอดี อาจสามารถส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในใจ ได้แก่ วิตกกังวล ก้าวร้าว เคลือบแคลงใจ และลังเลใจ เมื่อเกิดความขัดแย้งในใจขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติของใจจะมีกลไกป้องกันทางจิตที่พยายามประนีประนอมความขัดแย้งนี้ ซึ่งนำมาสู่การแสดงออกของอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น



โรคย้ำคิดย้ำทำ


อาการหรือพฤติกรรมที่ควรสังเกตของโรคย้ำคิดย้ำทำมีอะไรบ้าง


ลักษณะอาการย้ำคิดย้ำทำที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่
1. ความรังเกียจต่อสิ่งสกปรกแปดเปื้อน (Contamination) อาการย้ำคิดชนิดนี้ พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ สิ่งแปดเปื้อนมักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เชื้อโรค หรือฝุ่น เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึกรังเกียจและกังวลอย่างมาก จนตามมาด้วยการล้างมือซ้ำๆ (Cleaning / Washing) จนมือเปื่อยลอก หรือไม่ออกจากบ้านเลยเพราะกลัวเชื้อโรค
2. ความสงสัยอย่างมาก (Pathological Doubt) อาการย้ำคิดชนิดนี้ พบบ่อยเป็นอันดับสอง ความสงสัยที่เกิดขึ้นมักทำให้กลัวที่จะเกิดเรื่องร้ายๆ ได้ เช่น สงสัยว่าตนเองล็อกประตูแล้วหรือไม่ สงสัยว่าตนเองปิดเตาแก๊สแล้วหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยสงสัยในสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมกลับไปตรวจสอบซ้ำๆ (Checking) ในบางรายจะมีลักษณะคล้ายๆ พิธีกรรม (Ritual) เช่น ต้องตรวจ 3 รอบ ถึงออกจากบ้านได้ ถ้ายังทำไม่ครบจะกังวลอย่างมาก
3. ความคิดที่น่ารังเกียจผุดขึ้นมา (Intrusive Thought) อาการย้ำคิดที่มักเกี่ยวกับความรุนแรงหรือเรื่องทางเพศซ้ำๆ เช่น คิดว่าตนเองไปทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ คิดว่าตนเองไปล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นหรือไม่ อาการย้ำทำจึงแสดงออกมาในลักษณะการถามว่าตนเองได้ทำไปหรือไม่ การสารภาพผิดซ้ำๆ เพื่อให้คนรอบตัวปลอบใจลดความรู้สึกผิด ที่พบได้บ่อยอีกกรณี คือ เวลาเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วเกิดความคิดด่าทอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ก็จะทำการภาวนาขอขมาลาโทษในใจเพื่อลดความรู้สึกผิด (Mental Compulsion)
4. ความสมมาตร (Symmetry) อาการย้ำคิดชนิดนี้ เป็นลักษณะที่ผู้ป่วยต้องการความแม่นยำอย่างมาก เช่น ต้องวางของแบบนี้ ตรงนี้ เคลื่อนไปจากจุดเดิมไม่ได้ หรือสองข้างต้องเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันก็ต้องทำให้เท่ากัน จึงจะปล่อยผ่านไปได้ ทำให้ผู้ป่วยทำอะไรช้าไปหมด เช่น กินอาหาร หรือโกนหนวด ก็จะใช้เวลาเป็นหลักชั่วโมง

โรคย้ำคิดย้ำทำ


ย้ำคิดย้ำทำมากแค่ไหนหรือนานแค่ไหนต้องไปพบแพทย์

โรคย้ำคิดย้ำทำมักสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมากแก่ผู้ป่วยอยู่แล้ว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักรับรู้อาการของตนเองอยู่แล้วว่าเป็นความผิดปกติและไม่สมเหตุสมผลในอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานใจอย่างมาก หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิต แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์ได้เลย เพราะโรคมีทางรักษาให้อาการดีขึ้นได้



การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำมีกี่วิธี ทำอย่างไรบ้าง

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ มี 2 วิธี คือ
1. เภสัชบำบัดหรือการใช้ยาจิตเวช (Pharmacotherapy) ยาที่ถูกพิจารณาให้ใช้กับโรคย้ำคิดย้ำทำเป็นลำดับแรก คือ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของ Serotonin (Serotonin Reuptake Inhibitor) ประกอบด้วย ยากลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor) และ Clomipramine
2. จิตบำบัดแบบปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ จะเรียกว่า Exposure and Response Prevention (ERP) ซึ่งองค์ประกอบ 2 อย่างของ ERP คือ การเผชิญกับความกังวล (Exposure) มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอาการย้ำคิด และป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมซ้ำซาก (Response Prevention) มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอาการย้ำทำ กระบวนการการทำ ERP คือ การให้ผู้ป่วยฝึกเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวหรือกังวล โดยพยายามละเว้นการทำพฤติกรรมย้ำทำที่ปกติเคยทำ การฝึกทำให้ลักษณะนี้ซ้ำๆ ทำให้ความกังวลลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความเคยชิน (Habituation) เมื่อผู้ป่วยกังวลน้อยลงก็ไม่จำเป็นต้องย้ำทำอีก นำไปสู่การสร้างความมั่นใจของตนเองที่ต้านความอยากที่จะย้ำทำที่เกิดขึ้นในใจได้

ปัจจุบันพบว่าการใช้ทั้ง 2 วิธี ควบคู่กันทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาจะมีประสิทธิภาพที่ดี แต่มีผู้ป่วยเพียงประมาณ 1 ใน 3 ที่รักษาหายได้เป็นปกติ ซึ่งมักขึ้นกับความเข้าใจในตัวโรค ความร่วมมือ และความต่อเนื่องในการรักษาของผู้ป่วย ดังนั้น เมื่อมีความสงสัยในตัวโรคและการดูแลรักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจและคลายความสงสัยต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความร่วมมือในการรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง



โรคย้ำคิดย้ำทำ


โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถป้องกันได้ไหม อย่างไร

สำหรับความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำได้ แต่ถ้าหากเคยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำแล้ว การรักษาโดยเฉพาะการฝึกฝนทำ ERP อย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้มีความมั่นใจในการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำได้ดีขึ้น


ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

แนะนำให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับโรคที่เป็น อย่าปฏิเสธในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คล้ายกับเป็นโรคทางกาย ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรค ก็ไปหาคุณหมอ รับการรักษาด้วยยาเบาหวาน และพยายามควบคุมอาหารด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ในทางกลับกัน หากไม่ยอมรับว่าเป็นโรคเบาหวาน ก็จะกินอาหารเหมือนเดิม ไม่ระวังของหวาน ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดจากน้ำตาลสูง หรือเกิดทุพพลภาพ อัมพาตจากเส้นเลือดสมองอุดตัน

โรคย้ำคิดย้ำทำก็เช่นกัน ถ้าป่วย ก็ไปรักษาด้วยวิธีกินยาและจิตบำบัดกับจิตแพทย์ ความทุกข์ทรมานโรคจะลดลง คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น แต่หากไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ปล่อยให้อาการกำเริบ ก็ส่งผลเสียต่อตัวเองและความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบข้าง ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

การอยู่ร่วมกัน ควรทำอย่างไร เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

วิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยพื้นฐานไม่ได้แตกต่างจากผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ คือ การรับฟังความทุกข์ทรมานจากผู้ป่วยอย่างตั้งใจ การให้กำลังใจผู้ป่วยในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้น และการดูแลผู้ป่วยเรื่องการรักษาให้กินยาที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง แต่ความแตกต่างระหว่างการดูแลผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำกับผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ คือ เวลาที่ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำแสดงอาการย้ำทำออกมา เช่น การถามว่าตนเองได้ทำอะไรไม่ดีไปหรือไม่ คนที่อยู่ข้างๆ สามารถตอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยไม่ได้ทำเพียง 1 ครั้ง แต่หากผู้ป่วยยังคงถามซ้ำๆ ให้หลีกเลี่ยงการยืนยันผู้ป่วยซ้ำๆ เพราะขัดต่อหลักการรักษาที่ให้ผู้ป่วยอยู่กับความวิตกกังวล แต่อาจคอยอยู่ข้างๆ และช่วยให้ผู้ป่วยฝึกอยู่กับลมหายใจ (Breathing Exercise) เพื่อผ่อนคลายจากความวิตกกังวล เป็นการหลีกเลี่ยงการย้ำทำแทนตามหลักการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม