แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
โดยทั่วไปไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หากมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต นั่นหมายความว่า เราควรต้องให้ความใส่ใจแล้ว เริ่มต้นจากการ สังเกตปัญหาทางสุขภาพจิตของเด็กในแต่ละช่วงวัย ดังนี้
ช่วงวัยเด็กเล็ก
ปัญหาหรือพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตในเด็กเล็ก คือ “พัฒนาการและพฤติกรรมตามวัย” เช่น พูดช้า (1 ขวบ ถึง ขวบครึ่ง แต่ยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย) ดื้อ ซน เอาแต่ใจมากเกินปกติ ส่งผลถึงการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่
บางทีคุณพ่อคุณแม่มาปรึกษาว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เหมาะสม เป็นความเครียดของคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งมีลูก หรือเป็นลูกเล็ก เด็กเล็กที่มีความเครียด ซึมเศร้า มักบอกไม่ได้แบบผู้ใหญ่เพราะภาษายังไม่พัฒนา เขามักแสดงออกด้วยพฤติกรรมถดถอย ที่เคยช่วยเหลือตัวเองก็กลับทำไม่ได้ อาจมีปัญหาการกิน การนอนที่แปรปรวนไปไม่เหมือนเดิม
ช่วงวัยเรียน
เมื่อเด็กถึงวัยเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่เจอปัญหาเกี่ยวกับการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการอ่าน การเขียน คะแนนไม่ดี ดื้อ ต่อต้าน ซนมาก ถูกแกล้ง เข้ากับเพื่อนไม่ได้ มีปัญหากับเพื่อนหรือครู ไม่ไปเรียน ซึมเศร้า บางคนมีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ
ช่วงวัยรุ่น
มักเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย เช่น การคบเพื่อน การติดโซเชียลมีเดีย ติดเกม ติดซื้อของออนไลน์ ใช้ยาเสพติด พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นเรื่องปัญหาทางอารมณ์ของวัยรุ่น เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น
สำหรับ วิธีการรับมือ ป้องกัน และจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก พ่อแม่สามารถทำได้โดยเริ่มต้นจาก
• ความสัมพันธ์ที่ดีของเด็กและพ่อแม่ ตรงนี้เป็นวัคซีนเบอร์หนึ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่พูดคุยด้วยเหตุผล สื่อสารเชิงบวกให้ความรักความอบอุ่น มีเวลาให้ลูก สร้างบรรยากาศบ้านที่ปลอดภัย เด็กมีที่พึ่งพิงทางใจ
• พ่อแม่ควรเข้าใจลักษณะของเด็ก ยอมรับธรรมชาติ ให้โอกาสพัฒนาปรับปรุง ไม่คาดหวังเกินไปจนผิดธรรมชาติ
• ฝึกการจัดการปัญหาให้เด็กตามสมควร ไม่ต้องช่วยตลอด ให้ลองทำอะไรเอง ทำให้เด็กมั่นใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทอดทิ้ง ทำให้เขารู้สึกว่ามีที่พึ่งพิง
• ต้องไม่ลืม สร้างกำลังใจ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางใจ เพราะการชมเชยในจุดที่ดี นำมาสู่ความภาคภูมิใจในตัวเอง
• พ่อแม่ควรหมั่น สังเกตความรู้สึกลูก ละเอียดอ่อนกับความรู้สึกเด็ก การเข้าใจความรู้สึกของเขาช่วยให้เด็กเข้าใจ และจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้
และสุดท้าย ปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่า เด็กคนหนึ่งจะมีสุขภาพจิตที่ดี เติบโตเป็นคนที่รับมือกับสถานการณ์ในชีวิต มีจิตใจที่เข้มแข็งและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีร้ายในชีวิตได้หรือไม่นั้น คือ การเลี้ยงดูปลูกฝังของพ่อแม่ ซึ่งวิธีการต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้เป็น
แนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกเพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพจิตที่ดี ได้แก่
• พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีก่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักละเลยตรงนี้ เพราะเมื่อพ่อแม่มีความเครียด หรือปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็ส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกได้
• ให้ความรัก มีเวลาให้ลูก พูดคุยกับลูก เล่น เล่านิทาน ทำกิจกรรมกับลูกบ่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
• ฟังลูกมากๆ เวลาลูกอยากเล่าอะไรให้ฟัง ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ลูกก็ฟังพ่อแม่มากขึ้น และอยากเล่าอยากระบายสิ่งต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง
• อย่าปล่อยให้ลูกติดหน้าจอเกินไป เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูหน้าจอทุกชนิด เช่น มือถือ แท็บเล็ต ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ พ่อแม่จำเป็นต้องชวนลูกทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เพราะสาเหตุหนึ่งของเด็กและวัยรุ่นยุคนี้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากการใช้หน้าจอมากเกินไป สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ต้องไม่ติดจอด้วย เป็นตัวอย่างที่ดี หากจำเป็นต้องดูจริงๆ ควรดูไปพร้อมกับเด็กเพื่อให้คำแนะนำ และเพิ่มความเข้าใจกันมากขึ้น
• สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป ให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย
• สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่างจนลูกติดสบายเกินไป
• มีเมตตาและเอาใจลูกมาใส่ใจเรา ปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรักและเข้าใจ ช่วยให้ลูกรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจ
• เข้าใจพัฒนาการเด็กพื้นฐาน รู้ว่าเด็กวัยนี้ควรทำอะไรได้หรือยังทำไม่ได้ ไม่เร่งรัดเด็กเกินไปจนเป็นความกดดันและทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่ตั้งใจ
• ไม่ต้องเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น ยอมรับในตัวตนที่ลูกเป็น ทุกคนมีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ มีข้อดีข้อเสีย เป็นปกติมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในตัวตน มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เติบโตเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้
• ชมเชยเมื่อเห็นว่าลูกทำได้ดี เน้นชมเชยที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ต้องเน้นผลลัพธ์
• ควรให้ลูกเรียนรู้การรับผิดชอบ ถ้าลูกทำไม่ถูก มีการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม แต่ไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง ให้ลูกรู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงตัวแก้ไข ทุกคนก็ทำผิดได้ และมีโอกาสทำให้ดีขึ้น
• สอนให้ลูกมีทักษะจัดการอารมณ์ที่ดี รู้จักผ่อนคลายความเครียด เวลามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ ก็เข้าใจตระหนักรู้ถึงอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย
ท้ายนี้ ปัญหาทางสุขภาพจิตบางอย่าง หากพัฒนาจนเป็นโรค จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เด็ก อาจต้องใช้ยารักษาร่วมกับการทำจิตบำบัดและการปรับตัวของคนใกล้ชิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ถ้าเกิดชั่วคราวและดีขึ้น อาจไม่ถึงกับเป็นโรคทางจิตเวช แต่เมื่อใดที่ปัญหาเหล่านี้มีผลกับการใช้ชีวิตของเด็ก การเรียน การอยู่กับคนอื่น ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ ก็จำเป็นต้องไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น