สอนลูกรัก รู้เท่าทันอารมณ์โกรธ


ทิพวัลย์ ด้วงชู
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์



ถ้าให้นึกถึงสัญลักษณ์แทนความรู้สึกโกรธ คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงสีแดง ไม่ก็ไฟ...
ถ้าให้คิดเล่นๆ อาจเพราะความโกรธกับไฟมีอะไรบางอย่างคล้ายกัน
ไฟอาจทำให้ร้อนกาย ความโกรธทำให้ร้อนใจ


รู้ทันอารมณ์โกรธ



ทั้งไฟและความโกรธต่างก็มีข้อดี-ข้อเสีย ไฟให้ประโยชน์มากมาย ให้ความร้อนไว้ทำอาหาร ให้ความอบอุ่น แต่ถ้าไม่ระวัง ไฟนั้นก็อาจเผาผลาญร่างกายและทรัพย์สินได้ ความโกรธก็เช่นกัน

ความโกรธอาจฟังดูเป็นอารมณ์ด้านลบ แต่ก็มีประโยชน์ต่อเราอยู่เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักความโกรธ เราคงไม่รู้ตัวว่าตนเองต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ถ้าไม่แสดงความโกรธคนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ชอบการกระทำนั้นๆ ความโกรธจึงนับเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักจะโกรธเมื่อคิดว่าถูกก้าวล้ำขอบเขต (boundary) ของตนเอง หรือไม่ได้รับความยุติธรรม ถ้าเราไม่รู้เท่าทันความโกรธ หรือไม่มีสติเพียงพอที่จะจัดการตนเองเมื่อมีอารมณ์โกรธ ความโกรธนั้นก็มีฤทธิ์ทำลายล้างไม่ต่างจากไฟ

การสอนให้เด็กๆ ได้รู้เท่าทันอารมณ์โกรธของตนเองและจัดการความโกรธด้วยความระมัดระวังจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา หากแสดงออกซึ่งอารมณ์โกรธได้ไม่เหมาะสม



รู้ทันอารมณ์โกรธ


การจัดการความโกรธ (Anger Management)
1. การสอนให้เด็กรู้ทันอารมณ์โกรธ
• สอนให้เด็กฝึกสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว ร้อนผ่าวที่ใบหน้าหรือฝ่ามือ เหงื่อออก หายใจถี่ เสียงดัง เป็นต้น อาจให้เด็กลองเอามือจับหัวใจตนเองแล้วลองนับจังหวะ อธิบายว่าอันนี้เป็นจังหวะหัวใจในเวลาปกติ หรือให้เด็กลองสังเกตตนเองเวลาโกรธ
• มองหา trigger หรือสิ่งที่กระตุ้นให้โกรธ เช่น เมื่อโดนขัดใจ เมื่อมีคนมาแย่งของ เมื่อมีคนตำหนิ เมื่อกลัวหรือคิดว่าถูกคุกคาม เป็นต้น
• ฝึกให้คะแนนความโกรธ (0-10 คะแนน) โดยให้ 0 คือไม่โกรธเลย 5-6 คือโกรธระดับปานกลาง ไล่ระดับไปถึง 10 คือโกรธมากที่สุด หากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจจำนวน อาจทำท่าทางด้วยมือ เช่น โกรธน้อย มือทั้งสองทิ้งระยะห่างเล็กน้อย โกรธมากระยะห่างระหว่างมือซ้ายมือขวายิ่งกว้างขึ้น
• การสะท้อนอารมณ์ เช่น “หนูโกรธที่แม่ไม่ให้ดูยูทูป แต่เราตกลงกันแล้วว่าจะดู 20 นาที” ซึ่งเด็กอาจจะงอแง หากไม่เป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเอง และผู้อื่น ผู้ปกครองก็เพิกเฉยต่อการงอแงนั้นด้วยท่าทีสงบ แล้วก็รอให้ลูกสงบ จึงเข้าไปชื่นชม

รู้ทันอารมณ์โกรธ


2. แยกพฤติกรรมให้ออก
สอนให้เด็กมองเห็นว่าการแสดงพฤติกรรมแบบใดเป็นปัญหา แบบใดไม่เป็นปัญหา เน้นย้ำว่าเราสามารถโกรธได้ สามารถบอกให้คนอื่นรู้ว่าเราโกรธได้ แต่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตนเอง และไม่ทำลายข้าวของ

3. การรับมือกับความโกรธ
• การบอกด้วยคำพูดว่าโกรธเรื่องอะไร เช่น “ผมหงุดหงิดที่แม่ชอบบ่น” “หนูโกรธเวลาน้องแย่งของเล่นของหนู” หรือแม้กระทั่งการบอกสั้น ๆ ว่า “โกรธแล้วนะ” อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณให้ผู้อื่นได้เข้าใจ
• การขอเวลานอก เพื่อสงบตนเอง และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้หงุดหงิด
• ฝึกหายใจ (breathing exercise) โดยการหายใจเข้าจนท้องป่อง กลั้นไว้ 3 วินาที (นับ 1 2 3) หลังจากนั้นหายใจออกยาว ๆ จนท้องยุบ ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง เพื่อทำให้ร่างกายสงบผ่อนคลายมากขึ้น อีกทั้งยังเบี่ยงเบนจากสิ่งที่กระตุ้นให้โกรธอีกด้วย
• การนับเลขแบบเรียงลำดับ เช่น 1, 1-2, 1-2-3, 1-2-3-4,........จนครบ 10 หากนับผิดหรือนับข้ามให้เริ่มนับใหม่อีกครั้ง
• การเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ฟังเพลง กระโดดเชือก วิ่งออกกำลังกาย ถูพื้น หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ชอบ หรือทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย
• จัดอุปกรณ์หรือพื้นที่ระบายความโกรธที่ปลอดภัย เช่น ขยำลูกบอลบีบ ขยำกระดาษที่ไม่ใช้แล้วเมื่อหายโกรธก็ทิ้งในถังขยะ การขีดเขียน เป็นต้น



รู้ทันอารมณ์โกรธ


4. เป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก เมื่อพ่อแม่โกรธก็ยึดหลักการเช่นเดียวกับลูก เช่น “แม่โมโหมากเลยที่หนูขว้างของใส่แม่ แม่ขอไปสงบตัวเองสักครู่ หายโมโหแล้วแม่จะกลับมา” และต้องไม่ลืมกลับมาหาเด็กทันทีเมื่ออารมณ์สงบแล้ว เพื่อเด็กจะได้มองเห็นว่าตอนแม่โกรธแม่แสดงออกอย่างไร


5. ชื่นชมเมื่อเด็กสงบ เช่น “แม่ดีใจที่หนูสงบเองได้” “พ่อชื่นชมที่ลูกพยายามจัดการความโกรธด้วยตนเอง” เป็นต้น






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม