ทิพวัลย์ ด้วงชู
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
ผู้ปกครองหลายท่านอาจชอบเมื่อลูกดีใจ หัวเราะ มีความสุข ไม่อยากเห็นลูกร้องไห้ เสียใจ ไม่ชอบเวลาลูกงอแง โกรธเกรี้ยว จึงมักมีการปลอบลูกว่า “อย่าร้องไห้เลย” “ไม่ต้องกลัว” “อย่าโกรธเลย” ซึ่งก็พบว่าเด็กมักไม่สามารถหยุดยั้งอารมณ์เหล่านั้นได้ ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ควบคุมให้หยุดในทันทีไม่ได้ เนื่องจากอารมณ์เป็นภาวะความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งกระตุ้นทั้งจากภายในและภายนอก แบ่งออกเป็น อารมณ์ด้านบวก และอารมณ์ด้านลบ
• อารมณ์ด้านบวก ได้แก่ ดีใจ ตื่นเต้น สนุกสนาน ภูมิใจ เป็นต้น
• อารมณ์ด้านลบ ได้แก่ เสียใจ โกรธ กลัว กังวล อาย ขยะแขยง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเราต่างก็มีทั้งอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ ไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ด้านบวกเพียงด้านเดียว การสอนเรื่องอารมณ์เพื่อให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งสองฝั่งจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของลูกรัก ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอนให้ลูกรักรู้จักและเข้าใจอารมณ์ ได้ดังนี้
1. การสะท้อนอารมณ์ ในขณะที่เด็กมีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจผ่านประสบการณ์ตรงว่าสิ่งที่กำลังเผชิญในตอนนี้คืออารมณ์ใด เช่น “หนูกลัวว่าจะไปโรงเรียนสาย” “หนูโกรธที่น้องแย่งของเล่น” “หนูตื่นเต้นที่จะได้ไปเที่ยวทะเล” เป็นต้น
2. การบอกอารมณ์ของพ่อแม่ ให้ลูกเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงอารมณ์กับสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงของผู้ใหญ่ เช่น “แม่ชื่นใจมากที่หนูเล่นแล้วเก็บ” “แม่รู้สึกเสียใจที่หนูตะคอกใส่แม่” “แม่โกรธที่หนูปาของเล่นใส่แม่” เป็นต้น
3. การสอนอารมณ์ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น นิทาน รูปภาพ การ์ตูนสั้น ๆ ที่ตัวละครแสดงสีหน้าชัดเจน แล้วชวนเด็ก ๆ พูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์นั้น ๆ เช่น หนูดีใจตอนไหนบ้าง อะไรบ้างที่ทำให้หนูเสียใจ เป็นต้น
4. การสำรวจและบันทึกความรู้สึกของตนเองในแต่ละวัน (mood check-in) โดยการทำแผ่นภาพ หรือสมุดบันทึกให้ลูกได้ระบายสีอารมณ์ในแต่ละวัน เพื่อให้รู้ทันและเข้าใจความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งภายใน 1 วันไม่จำเป็นต้องระบายสีเพียงอารมณ์เดียว เริ่มจากให้ลูกกำหนดสีแทนอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น ลูกอาจระบายสีเหลืองเมื่อมีความสุข ใช้สีแดงแทนอารมณ์โกรธ ใช้สีฟ้าแทนอารมณ์เศร้า เป็นต้น ในกรณีที่ไม่สะดวกบันทึกในสมุด สามารถบันทึกผ่าน mood tracker applications ได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจช่วยลูกสำรวจอารมณ์ผ่านคำถามทั่ว ๆ ไป เช่น วันนี้หนูรู้สึกอย่างไร ไปโรงเรียนวันนี้สนุกกับอะไรที่สุด เป็นต้น
นอกจากการสอนให้รู้จักและเข้าใจอารมณ์ตนเองแล้ว ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม อนุญาตให้ลูกร้องไห้ได้เมื่อเสียใจ กลัวได้โดยแม่จะอยู่เคียงข้างให้หนูอุ่นใจ โกรธได้แต่จะไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่นและไม่ทำลายข้าวของ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่าง ๆ รวมถึงชื่นชมเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม