ใครว่าเด็กเครียดไม่เป็น ทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด


โรงพยาบาลมนารมย์


"ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีปัญหาการกิน พัฒนาการถดถอย อะไรที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ ติดแม่ กัดเล็บ ดึงผมตัวเอง ไม่ไปโรงเรียน ผลการเรียนตก ติดเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เถียงพ่อแม่" คุณพ่อคุณแม่คงคิดไม่ถึงว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของลูก มีสาเหตุจาก "ความเครียด" เพราะวันนี้ "ความเครียด" ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะเด็กก็เครียดเป็นเหมือนกัน จะแตกต่างกันก็เพียงสาเหตุของความเครียดเท่านั้น



ความเครียดของเด็กเกิดจากอะไรได้บ้าง
ความเครียดของเด็กสามารถแบ่งอาการออกได้ 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เด็กอาจเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบกับผลการเรียน และไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง อาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
ระดับที่ 2 เริ่มรุนแรงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
ระดับที่ 3 ถือเป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีพละกำลัง

จากการวิจัยพบว่า ร้อยละ 5-10 ของกลุ่มโรควิตกกังวลและซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด ที่พบในเด็ก ส่วนมากจะพบว่าเป็นความเครียดที่เข้าสู่ระดับกลางถึงรุนแรง แต่ถ้าเป็นความเครียดธรรมดาทั่วไป พบได้มากถึง ร้อยละ 20-30



เด็กเครียด


ส่วนสาเหตุที่เด็กเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจาก ครอบครัว บางครั้งที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถูกตำหนิบ่อยๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ นานไปเด็กก็ซึมซับ เกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถตัดความคิดนี้ออกไปได้ รวมถึงการเลี้ยงดูและความคาดหวัง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กบางคนที่พ่อแม่จริงจังเรื่องเรียนหรือสอบแข่งขันมาก ต้องแบกรับความคาดหวังของทั้งพ่อแม่และครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เด็กเกิดความกดดัน พ่อแม่ที่เครียดก็ส่งผลให้เด็กเครียดด้วย นอกจากนั้น โรงเรียน ก็มีส่วนทำให้เด็กเครียดได้เช่นกัน ครูดุ เข้มงวดเกินไป ลงโทษรุนแรง การบ้านเยอะ เด็กบางคนถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย ก็เกิดความวิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รัก สุดท้ายเรื่องของ การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น เปิดเทอม ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน พ่อแม่เลิกรากัน สูญเสียคนหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก ภัยอันตรายต่างๆ ทำให้เด็กบางคนที่มีพื้นอารมณ์วิตกกังวลง่าย ไวต่อการกระตุ้น อ่อนไหว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ในเด็กบางคน ก็เพราะอยากหนีออกจากความเครียดในใจ



เด็กเครียด


ความเครียดของเด็ก ส่งผลกระทบไปทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการการเรียนรู้ต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิตใจหรือความเจ็บป่วยทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ขาดสมาธิ รับประทานได้น้อยลง พ่อแม่พาไปตรวจที่โรงพยาบาลทางกายก็ไม่พบสาเหตุชัดเจน อีกทั้งความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลกระทบถึงการเจริญพัฒนาของเซลล์ประสาทในสมอง หรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่ส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน อีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กมาขอรับคำปรึกษาจากผู้ชำนาญการทางด้านสุขภาพจิต เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจส่งผลต่อสัมพันธภาพกับคนรอบข้างเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อีกด้วย



เด็กเครียด



ทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด

ก่อนอื่นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดและแก้ที่สาเหตุนั้น ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความเข้าใจ ยอมรับเด็กในตัวตนของเด็กโดยไม่สร้างความคาดหวังที่กลายเป็นความกดดันจนเกินไป เด็กควรมีวิธีการจัดการกับความเครียดได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ได้เล่นกีฬาที่ชอบ อ่านหนังสือ เล่นสนุกกับเพื่อนตามความเหมาะสม ฯลฯ แต่ก็มีคำแนะนำที่ชวนให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ เพราะเบื้องต้นแล้วพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการเข้าไปพูดคุยหรือรับฟังความคิดเห็น เช่น เห็นลูกเงียบๆ เห็นลูกเหนื่อยๆ ก็ควรถามว่า “มีอะไรที่พ่อหรือแม่ช่วยลูกได้บ้าง” พยายามแสดงความเป็นห่วงและเข้าใจลูก แล้วพวกเขาก็จะรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขามากขึ้น
2. ไม่กดดันเรื่องการเรียน ไม่ควรกดดันลูกในเรื่องของการเรียน อย่าคาดหวังมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเครียดได้ สมมุติว่าเด็กบางคนเรียนไม่ค่อยเก่ง แล้วพ่อแม่คาดหวังสูง ก็อาจทำให้เด็กกดดันและเครียดได้ แต่ถ้าเด็กเป็นคนอ่อนไหวต่อความรู้สึก แม้พ่อแม่ไม่ได้กดดันหรือคาดหวังอะไร เด็กก็อาจจะเครียดเอง เพราะสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ หรือไม่ก็เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน เพราะฉะนั้นในสถานการณ์เดียวกัน เด็กบางคนอาจจะเครียดและไม่เครียดก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของเด็กเอง
3. ไม่ดุ ไม่ตำหนิ ไม่ตี ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือใช้วิธีการตีกับเด็ก เพราะเด็กจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง อาจทำให้เข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน บางครั้งเด็กอาจเลียนแบบโดยใช้วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนเองไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน พ่อแม่ควรมีสติและเหตุผลมากที่สุด นอกจากนั้นควรเลือกเพิกเฉยต่อเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางอย่างเด็กอาจต้องการให้พ่อแม่สนใจเขา
4. เข้าใจและมีเวลาให้ ควรเข้าใจลูกให้มาก มีเวลาอยู่กับลูกบ่อยๆ เช่น ทำกิจกรรม เล่นกับลูก ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายแนบแน่น ถ้าหากลูกอยู่ในวัยประถมศึกษาก็อาจเล่นสนุกกับลูก ชมเชย และมีเวลาให้ลูกสม่ำเสมอ ส่วนลูกวัยรุ่นก็อาจเป็นเพื่อนคุย เป็นที่ปรึกษา ก็จะทำให้ลูกเล่าหรือระบายความในใจออกมาได้ เด็กก็จะไม่เครียด


ท้ายนี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดการกับความเครียดของลูกได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปพบกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อรับการประเมินหาแนวทางดูแลและช่วยเหลืออย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไปได้


รู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งเครียดไปเสียก่อน เพราะทุกปัญหามีทางออกและสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าตอนนี้ตนเองเข้าข่ายมีความเครียดหรือยัง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถลองทำแบบทดสอบความเครียดกันได้ที่ https://www.manarom.com/test/strain_thai.html


อ้างอิงข้อมูลจาก

• แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
• นายแพทย์จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
• กรมสุขภาพจิต
• สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม