ว่าด้วยเรื่องของความอิจฉา


นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์



เราอาจเคยได้ยินบ่อยๆ ว่าตัวร้ายหรือนางร้ายในละครมักถูกเรียกในภาษาพูดโดยทั่วไปว่า “ตัวอิจฉา” เพราะอยากได้อยากมีแก่งแย่งกับพระเอกนางเอก ดังนั้นพอพูดคำว่า “อิจฉา” ส่วนมากเราก็จะคิดถึงเรื่องที่ค่อนข้างไม่ดีสักเท่าไร อยากไปแย่งของของเขา อยากไปทำตัวเหนือกว่าเขา อยากไปทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เรารู้สึกดีกว่าการได้เห็นคนอื่นดีกว่าเรา ถึงขนาดที่ว่า “อิจฉา” ยังถูกระบุอยู่ในบาปเจ็ดประการของคริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิคสมัยอดีตอีกด้วย



แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของ “อิจฉา” ก็ยังมีข้อมูลที่สามารถอธิบายได้ในทางจิตวิทยาเช่นกัน



อิจฉา

อิจฉา คืออะไร?
“อิจฉา” เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการประเมิน แข่งขัน หรือเปรียบเทียบทางสังคม ระหว่างตัวเองและผู้อื่น ก่อให้เกิดความไม่สบายใจหรือไม่มีความสุข แน่นอนว่าโดยส่วนมากเป็นอารมณ์ที่เป็นไปในทางลบ และมักเป็นอารมณ์ที่แม้แต่เจ้าของความรู้สึกยังคิดว่ามันไม่เหมาะสม บางคนจึงอาจรู้สึกผิดที่ไปอิจฉาคนอื่น ดังนั้นอิจฉาจึงมักเป็นอารมณ์ที่ถูกเก็บซ่อนไว้อยู่ภายในโดยไม่ได้แสดงออกไปให้ใครเห็น


อิจฉา

ทำไมถึงอิจฉา?
เนื่องจากอิจฉาจะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงเกิดจากการรับรู้ตีความของบุคคลนั้นเอง ในลักษณะว่าตนเองมีความด้อยกว่า และคนอื่นดูเหมือนจะดีกว่า ซึ่งหากมองให้ลึกลงไป อาจต้องมาพิจารณาว่าการเกิดความรู้สึกนี้มันสะท้อนอะไรจากภายในตัวตนของเรา เนื่องจากแต่ละคนเกิดความอิจฉาไม่เท่ากัน เกิดในเรื่องไม่เหมือนกัน เราอาจมาย้อนดูว่าเราอิจฉาคนนี้ เรื่องแบบนี้ ในเวลาแบบนี้ เพราะอะไรกันแน่
สำหรับบางคนแล้ว ก็อาจพบว่า เราอาจกำลังไม่มั่นคงอยู่ภายใน อาจกำลังอ่อนไหวเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-esteem) กำลังมีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อตนเอง (Self-concept) หรือกำลังคิดว่าตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถเป็นตัวเราในอุดมคติ (Ideal self) ที่น่าพึงพอใจก็เป็นได้ ส่งผลให้เมื่อเปรียบเทียบทางสังคม อาจรู้สึกหรือตีความว่าคนอื่นดีกว่าตัวเรา และเกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบนั่นเอง



อิจฉา

เรามักอิจฉาคนอื่นรึเปล่า?
ลองดูว่า... ตัวเรามีความคิดเห็นสำหรับข้อคำถามต่อไปนี้อย่างไรบ้าง
• เราชมคนอื่นบ่อยแค่ไหน รู้สึกว่าการชมคนอื่นเป็นเรื่องง่ายหรือเรื่องยาก แสดงถึงว่า เราสามารถแสดงความรู้สึกดีๆ ต่อผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด
• เวลาคนอื่นได้รับสิ่งดีๆ ตัวเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่เห็นแบบนั้นหรือรู้เรื่องนั้น แสดงถึงว่า เรามีการตอบสนองทางอารมณ์อย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น
• เราเป็นประเภทไหนระหว่างประหม่าเมื่ออยู่ในสายตาคนอื่น หรือไม่สนใจกับมุมมองของคนอื่นที่มีต่อเรา แสดงถึง ความมั่นใจในตัวเอง การรับมือกับความหวั่นไหวเกี่ยวกับสังคม
• เราบอกตัวเองได้มั้ยว่า เรามีข้อดีอะไรบ้าง เพื่อแสดงถึง การตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งดีๆ หรือแง่มุมดีๆ ที่มีต่อตนเอง


จัดการกับความอิจฉาอย่างไร?
เนื่องจากความอิจฉาเกิดจากความคิดและความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่เกิดอัตโนมัติและควบคุมได้ยาก ดังนั้นการจะห้ามไม่ให้เกิดเลยก็ยากเช่นกัน ความอิจฉาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อรู้สึกขึ้นมาสิ่งที่เราพอทำได้ คือ การตระหนักรู้ตัว (Awareness) ว่าเรากำลังอิจฉาอยู่ เกิดอารมณ์นี้อยู่ และเราตอบสนองอย่างไรกับมัน
นอกจากนี้ เราอาจกลับมาทบทวนถึงความพึงพอใจในตนเองที่มีอยู่ ให้เวลากับตนเองในการสำรวจสิ่งดีๆ หรือจุดแข็งในตัว และทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีและมีคุณค่าอย่างสร้างสรรค์


อ้างอิงข้อมูลจาก

• Envy: The emotion kept secret จาก Psychology Today
• Do you suffer from envy? A 7 question inventory. จาก Psychology Today





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม