STOP BULLYING หยุดแกล้งกัน ก่อนซึมเศร้าถามหา


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

Bullying คืออะไร

การแกล้งกัน (Bullying) คือ พฤติกรรมที่ผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นคนเดียวหรือรวมตัวกันเป็นกลุ่มไปแกล้งเหยื่อ โดยมีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอีกฝ่าย (Deliberate) เป็นการแกล้งกันซ้ำๆ (Repeated) และต้องการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีอำนาจที่จะสู้ได้ (Power Imbalance) โดยแบ่งประเภทของการกลั่นแกล้งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. ทางร่างกาย (Physical Bullying) เช่น ตี ผลัก เตะ ต่อย หยิก
2. ทางคำพูด (Verbal Bullying) เช่น ล้อชื่อ ยั่วแหย่ ข่มขู่ ปล่อยข่าวลือ
3. ทางความสัมพันธ์ (Relational Bullying) เช่น ทำเป็นเพิกเฉย ไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม
4. ทำลายทรัพย์สิน เช่น รีดไถเงิน เอาของไปซ่อน
5. ทางสื่อออนไลน์ (Cyber Bullying) เช่น โพสต์ด่าทางโซเชียลมีเดีย ปล่อยคลิปที่น่าอายลงในอินเตอร์เน็ต

stop_bullying

Bullying ของเด็กที่โรงเรียน


ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจผิดว่า “เด็ก แค่เล่นกันเฉยๆ ไม่มีเจตนาที่จะแกล้ง” แต่จริงๆ เด็กมีความสามารถในการจงใจแกล้งเพื่อน เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป


พฤติกรรมการแกล้งในแต่ละวัยมีรูปแบบแตกต่างกัน ในวัยเด็กเล็กอาจดูยาก เพราะวิธีการแกล้งนั้นยังไม่รุนแรง หรือฝ่ายที่ถูกแกล้งมีข้อจำกัดด้านการเล่าเรื่อง ไม่สามารถบอกผู้ใหญ่ว่าถูกแกล้ง ดังนั้นครูหรือผู้ดูแลเด็กควรมีความตระหนักถึงเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กอายุน้อย เช่น อนุบาล เพราะการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่แรกที่เหตุการณ์ยังไม่รุนแรงจะได้ผลดี เพราะผลเสียที่ตามมาจากการแกล้งกัน ไม่ใช่มีผลเสียแค่เฉพาะกับเด็กที่ถูกแกล้งเท่านั้น แต่เด็กที่เป็นคนแกล้งเอง และเด็กคนอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์จะได้รับผลกระทบไปด้วย ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นาน ความเสียหายจะยิ่งมาก


ช่วงแรกเด็กอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะแกล้ง แต่เป็นพฤติกรรมที่ทำโดยบังเอิญ (Pre-bullying Behavior) เช่น แย่งของเล่นจากมือเพื่อน พูดล้อชื่อ ผลักเพื่อน แล้วเพื่อนแสดงท่าทีโวยวาย ร้องไห้ ถ้าผู้ใหญ่เข้าไปให้คำแนะนำ สอนสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ จะเป็นการตัดวงจรไม่ให้เกิดการแกล้งกันต่อไป แต่ถ้าผู้ใหญ่คิดว่าเป็นแค่เด็กๆ เล่นกัน ไม่ได้รุนแรง เดี๋ยวก็ดีกันเอง ครั้งต่อไปเด็กที่เป็นฝ่ายกระทำจะเริ่มสนุก สะใจที่ได้แกล้งให้เพื่อนหวาดกลัว ลนลาน ร้องไห้ พอทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อนที่ถูกแกล้งรู้สึกหมดหวัง ตัวเองไม่มีทางสู้ (Powerless) เกิดเป็นวงจรของการแกล้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะแพร่ขยายเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ


stop_bullying


• เด็กที่ถูกแกล้ง

เด็กที่ถูกแกล้งมักจะมีบางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น รูปร่างหน้าตาไม่ดี พูดไม่ชัดหรือพูดแปลกๆ เงอะงะซุ่มซ่าม เรียนไม่เก่ง เชื้อชาติหรือฐานะทางการเงินแตกต่างกัน มีพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาพฤติกรรมและ/หรืออารมณ์ เข้าสังคมไม่เก่ง
เด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งจะเล็งเด็กกลุ่มนี้ไว้ เพราะคิดว่ายังไงก็สู้ไม่ได้ และไม่มีอำนาจต่อรองมากพอ เมื่อทดลองแกล้งครั้งแรก แล้วเด็กที่ถูกแกล้งมีปฏิกิริยา เช่น ร้องไห้ โวยวาย โกรธไม่พอใจ ตอบโต้กลับ คนที่เป็นฝ่ายแกล้งจะยิ่งสนุก และแกล้งเพิ่มขึ้น อาจมีการข่มขู่ไม่ให้บอกคนอื่นด้วย

การแกล้งที่พอจะมีหลักฐานให้เห็นได้ คือ การทำร้ายร่างกาย (กรณีทิ้งร่องรอยไว้ เช่น รอยแดง รอยช้ำ รอยเล็บจิก) หรือการทำลายทรัพย์สิน เช่น ของหาย ข้าวของพัง

รูปแบบการแกล้งที่สังเกตได้ยาก คือ ทางคำพูด เช่น พูดกระซิบด่า ตะคอกข่มขู่ตอนไม่มีคนอื่นเห็น และการแกล้งกันด้านความสัมพันธ์ ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ยุ่งด้วย กีดกันออกจากกลุ่ม

การแกล้งทางสื่อออนไลน์ (cyberbullying) มีผลเสียรุนแรงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เช่น โพสต์ใส่ร้ายด่าว่าให้คนอื่นเข้ามารุมด่าต่อ ตัดต่อรูปหรือเอารูปที่น่าอายไปลง เนื่องจากเมื่อเรื่องถูกกระจายไปแล้วยากที่จะตามไปลบให้หมด (digital footprint) หรือเป็นการยากที่จะชี้แจงให้คนอื่นที่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่จริง

เด็กที่ถูกแกล้งบ่อยๆ จะทำให้มี Self-esteem ไม่ดี หมดหวัง เครียดกังวล ซึมเศร้า ออกจากระบบโรงเรียนก่อนวัยอันควร ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือถ้ารุนแรงมาก อาจพยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้

เด็กที่ถูกแกล้งมักจะหวาดกลัว ไม่มั่นใจที่จะเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง เพราะถูกฝ่ายที่แกล้งข่มขู่มา หรือคิดว่าไม่มีใครช่วยได้ ทำให้เก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว คนรอบข้างต้องช่วยสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ซึม แยกตัว ไม่พูด ดูตื่นตกใจง่าย กังวล ไม่ทำกิจกรรมเหมือนอย่างเคย ร้องไห้ง่าย บ่นไม่อยากไปโรงเรียน บางคนอาจมีร่องรอยบาดแผล หรือข้าวของที่เสียหาย ถ้าผู้ใหญ่สังเกตเห็นความผิดปกติ ต้องรีบให้การช่วยเหลือ เช่น ถามข้อมูลจากเด็ก หรือหาข้อมูลเพิ่มจากที่โรงเรียน

บางครั้งเด็กที่ถูกแกล้ง (ผู้ถูกล่า) อาจกลับเป็นคนที่ไปแกล้งคนอื่นต่อ (ผู้ล่า) เพื่อล้างแค้นและเอาคืนสิ่งที่ตัวเองเคยถูกกระทำ



• เด็กที่ไปแกล้งคนอื่น

เด็กกลุ่มนี้อาจมีปัญหาการเรียน ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม หรือปัญหาด้านอื่นๆ ที่ทำให้เด็กมี Self-esteem ไม่ดี มีความเครียด ไม่สบายใจ ต้องการหาวิธีระบายความเครียดของตัวเองออกมา เด็กต้องการได้รับการยอมรับและความสนใจจากเพื่อน เลยต้องแกล้งคนอื่น เพื่อให้ตัวเองมีตัวตน มีอำนาจ บางคนอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี มีการใช้ความรุนแรง อาชญากรรม ยาเสพติด มีต้นแบบที่ไม่ดี หรือผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลอบรมสั่งสอน เลี้ยงลูกด้วยวิธีผิดๆ ปกป้องและตามใจเด็กมากเกินไป หรือถูกผู้ปกครองทารุณกรรม (Abuse)

หากเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งไม่ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือตั้งแต่แรก หรือไม่ได้รับการรักษาโรคร่วมที่เป็นเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น เช่น สมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) ที่ทำให้เด็กมี Self-esteem ไม่ดี เด็กมีแนวโน้มที่จะแกล้งคนอื่นไปเรื่อยๆ แผ่ขยายอำนาจ ใช้วิธีการแกล้งที่รุนแรงมากขึ้น หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวอื่นๆ ตามมา เช่น การใช้สารเสพติด โดดเรียน ชกต่อย



• เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์

เพื่อนที่พบเห็นความรุนแรงจากการแกล้งกัน จะเกิดการเรียนรู้ว่าการไปแกล้งคนอื่น ทำให้สนุกสะใจที่เห็นเหยื่อร้องไห้ หวาดกลัว เด็กที่ไปแกล้งเพื่อนดูเจ๋ง มีอำนาจ ได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนคนอื่น เพื่อนที่เดิมเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์จะเปลี่ยนเป็นคนที่ไปแกล้งคนอื่น ด้วยเหตุผลที่อาจจะมาจากความกลัวว่าสักวันตัวเองอาจกลายเป็นเหยื่อ เลยต้องทำตัวป็นพวกเดียวกับคนที่เป็นฝ่ายแกล้ง หรืออยากรู้สึกดีกับการที่ทำให้คนอื่นกลัวได้



stop_bullying


Bullying ของผู้ใหญ่ที่ทำงาน

ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งกันของผู้ใหญ่คล้ายกับเด็ก คือ มีคนที่ถูกแกล้ง คนที่ไปแกล้งคนอื่นและคนที่เห็นเหตุการณ์ คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถูกแกล้งได้ขึ้นอยู่กับว่าไปอยู่ในสถานการณ์แบบไหน รูปแบบการแกล้งอาจจะไม่เห็นชัดเจนเหมือนตอนเด็กที่มักจะมีหลักฐานหลงเหลือไว้ เช่น รอยช้ำ สมุดถูกฉีก

การกลั่นแกล้งกันของคนที่เป็นผู้ใหญ่ซับซ้อนและน่ากลัวกว่าตอนเป็นเด็ก เนื่องจากเจตนาที่ต้องการจะทำให้อีกฝ่ายเดือดร้อนบางครั้งเป็นเรื่องที่รุนแรง เช่น ต้องการให้ลาออกจากที่ทำงาน ทำให้อีกฝ่ายไม่ได้รับตำแหน่งที่ดีขึ้น บางครั้งอาจถึงขั้นอยากให้อีกฝ่ายบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิต

คนที่อยู่ต่อหน้าเราเขาอาจทำเป็นดี แต่เบื้องหลังอาจกลั่นแกล้งเราอย่างร้ายกาจ เช่น ไปให้ข้อมูลเท็จเรื่องของเรากับหัวหน้างาน ทำลายผลงานที่เราทำส่ง จ้างคนมาทำให้เราบาดเจ็บ ปล่อยข่าวลือทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้น การคบกับใครไม่ว่าจะเป็นสถานะใด เราต้องมีความระมัดระวังตัว เช่น ไม่บอกเลขบัตรเครดิตกับเพื่อนกรณีที่เพื่อนขอยืมเงินชั่วคราว ไม่บอกข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการให้มองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง เพื่อที่จะคิดวิเคราะห์แยกแยะ (critical thinking) กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น



• คนที่ถูกแกล้ง

เมื่อเรารู้ว่าถูกคนอื่นแกล้ง เราย่อมมีความรู้สึกแย่เกิดขึ้น เช่น โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ถูกทรยศ แม้เราจะด่าทอเคียดแค้นคนที่มากลั่นแกล้ง ในขณะเดียวกันเราอาจมีความคิดลบกับตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน เช่น “เพราะเรานิสัยไม่ดีเพื่อนเลยไม่ชอบ” ส่งผลให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางจิตเวชอย่างอื่นตามมา เช่น โรคซึมเศร้า (depressive disorder) โรควิตกกังวล (anxiety disorder) โรคที่เกิดตามมาหลังจากเจอเรื่องเลวร้าย (PTSD- Post Traumatic Stress Disorder) การใช้สารเสพติดต่าง ๆ



• คนที่ไปแกล้งคนอื่น

คนกลุ่มนี้บางคนมีปมทางใจที่ทำให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) เลยไปแกล้งคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับและความสนใจ บางคนทำงานได้ไม่ดี มีปัญหาครอบครัว หรือปัญหาอีกหลายอย่าง การแกล้งคนนอกจากจะได้ระบายความเครียดแล้ว ผลพลอยได้อาจเป็นเรื่องอื่นด้วย เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง บางคนเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเห็นใจคนอื่นได้ (antisocial personality disorder/psychopath) ทำเรื่องที่ชั่วร้ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น เงิน อำนาจ



• คนที่เห็นเหตุการณ์

คนที่เห็นเหตุการณ์เกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อมีใครสักคนถูกกลั่นแกล้ง แล้วเหยื่อหวาดกลัว ต้องสูญเสียอะไรไปหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งหน้าที่ มิตรภาพ หากเขาต้องการสิ่งนั้นบ้างเขาอาจจะไปแกล้งคนอื่นต่อ เพราะหวังผลอยากได้เหมือนกัน บางคนที่เห็นการแกล้งกันแล้วเกิดความกังวลอาจมีการตัดสินสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง เช่น ย้ายที่ทำงาน หรือบางคนที่รู้สึกหวาดกลัว (threaten) จากเรื่องที่เกิดขึ้นอาจป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า (depressive disorder) โรควิตกกังวล (anxiety disorder) โรคที่เกิดตามมาหลังจากเจอเรื่องเลวร้าย (PTSD- Post Traumatic Stress Disorder)



stop_bullying


วิธีการรับมือและป้องกันการกลั่นแกล้ง (bullying)

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยหยุดเรื่องการกลั่นแกล้งกันได้ คือ ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องเข้าใจตรงกันว่าเรื่องการแกล้งกัน (Bullying) ไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเด็กแกล้งกัน ไม่ใช่แค่การเล่นที่เป็นปกติหรือเป็นเรื่องที่เด็กสามารถจัดการกันได้เอง เพราะเมื่อเริ่มมีการแกล้งกันเกิดขึ้น เด็กที่เป็นเหยื่อจะถูกแกล้งต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากคนที่เริ่มต้นแกล้งและคนอื่นที่มาสมทบ โครงสร้างทางสังคมของเด็กเหมือนกับผู้ใหญ่ คือ มีคนที่เป็นจ่าฝูงกับคนที่เป็นลูกน้อง (Social Hierarchy) มีคนที่มีอำนาจสั่งการและคนที่ถูกกดขี่ ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนที่ช่วยเด็กทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ คือ คนที่ถูกแกล้ง คนที่ไปแกล้ง และคนที่เห็นเหตุการณ์



• กรณีการกลั่นแกล้งของเด็ก


o การช่วยเหลือเด็กที่ถูกแกล้ง


1. เมื่อเด็กมาบอกว่าถูกแกล้งหรือผู้ใหญ่สังเกตเห็นอาการที่ทำให้สงสัยว่าเด็กจะถูกแกล้ง ผู้ใหญ่ต้องจริงจัง ตั้งใจฟังสิ่งที่เด็กเล่า แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ ปลอบและให้กำลังใจ ทำให้เด็กมั่นใจว่าผู้ใหญ่จะช่วยไม่ให้เด็กถูกแกล้งอีก ไม่ควรต่อว่าเด็ก เช่น ขี้ฟ้อง อ่อนแอ หรือแสดงท่าทีไม่ใส่ใจ เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถช่วยได้ ทำให้เด็กสิ้นหวัง ตัวเองไม่มีความสามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ ผู้ใหญ่ต้องหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น เพื่อน คนที่เห็นเหตุการณ์ พยายามหลีกเลี่ยงการข่มขู่หรือคาดคั้นให้เด็กเล่า ควรถามด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ให้เวลาเด็กในการเล่าเรื่อง หรือให้เด็กเล่าเรื่องผ่านการเล่น ให้กำลังใจเด็ก ให้ความมั่นใจกับเด็กว่าการเล่านั้นจะเป็นการช่วยเหลือไม่ให้ถูกแกล้งซ้ำอีก และเหตุการณ์ที่เด็กโดนแกล้งนั้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก


รายละเอียดที่ควรได้ คือ เด็กถูกแกล้งที่ไหน โดยใคร เหตุกระตุ้นที่ทำให้โดนแกล้ง พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเวลาที่ถูกแกล้ง ผลที่ตามมาจากการโดนแกล้ง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนในการช่วยเหลือ
- สถานที่ที่ถูกแกล้ง ให้เด็กพยายามหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่เอื้อต่อการถูกแกล้ง เช่น สถานที่ที่ไม่มีคนอื่นอยู่ เวลาไปไหนพยายามให้เด็กจับคู่กับเพื่อนที่สามารถช่วยเหลือเด็กจากการถูกแกล้งได้โดยที่ไม่ได้ใช้กำลังตอบโต้
- เหตุกระตุ้นที่ทำให้โดนแกล้งและพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเวลาที่ถูกแกล้ง เช่น เด็กบางคนมีท่าทีหวาดกลัวไม่กล้าบอกปฏิเสธฝ่ายที่มาแกล้ง ผู้ใหญ่ต้องช่วยฝึกทักษะในการพูดปฏิเสธ ให้กำลังใจและความมั่นใจว่าตัวเด็กเองสามารถช่วยเหลือตนเองไม่ให้ถูกแกล้งได้ ฝึกการมีท่าทีที่หนักแน่นจริงจัง สบตาฝ่ายที่มาแกล้งเวลาที่ถูกคุกคาม เพื่อให้เด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งได้รับทราบว่าอีกฝ่ายยืนหยัดสิทธิในการป้องกันตนเองโดยที่ไม่ใช่กำลัง ไม่ควรแนะนำให้เด็กที่ถูกแกล้งใช้กำลังหรือคำพูดที่จะไปยั่วยุให้อีกฝ่ายแกล้งเพิ่มขึ้น


2. ผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องคนแรก ต้องแจ้งบอกต่อข้อมูลกับคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาพูดคุยกันหาแนวทางช่วยเหลือ เช่น ครูต้องแจ้งผู้ปกครองของทั้งฝ่ายเด็กที่ถูกแกล้งและฝ่ายที่ไปแกล้ง


3. มีการเรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม หาแนวทางช่วยเหลือร่วมกัน และต้องมีการแจ้งเรื่องนี้ให้กับเด็กทุกคนทราบ ว่าการแกล้งกันเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับเรื่องนี้ เช่น เด็กที่เห็นเหตุการณ์สามารถให้การช่วยเหลือเพื่อนได้ ถ้าคิดว่าตัวเองสามารถห้ามคนที่กำลังจะแกล้งได้ ให้เข้าไปบอก หรือไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนอื่นให้มาหยุดการแกล้งกัน


4. ฝึกทักษะการจัดการเวลาที่ถูกแกล้งให้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่มีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับเพราะจะทำให้เรื่องรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น
- หากเพื่อนแค่พูดแหย่ล้อ แต่ยังไม่เข้าถึงตัวเด็ก ให้เด็กทำเป็นไม่สนใจ หรือเดินหนี เพราะถ้ายิ่งไปตอบโต้ หรือมีปฏิกิริยา เช่น โวยวาย ด่ากลับ ร้องไห้ แสดงท่าทางกลัว คนที่แกล้งจะยิ่งสนุก (Negative Attention)
- ถ้าคิดว่าสถานการณ์นั้นเด็กคุมตัวเองได้ ให้แสดงท่าทีว่าเด็กไม่ยอมให้เพื่อนมาทำแบบนี้ (Assertive) ด้วยการจ้องมองตาอีกฝ่าย ยืนและวางแขนด้วยท่าทีที่มั่นคง มั่นใจ พูดบอกเพื่อนด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สั้นๆ เช่น “เราไม่ชอบที่นายทำแบบนี้”
- ถ้าทำเป็นไม่สนใจหรือเดินหนีไปแล้ว แต่เพื่อนยังเดินตาม ให้พยายามเดินไปหาครูหรือผู้ใหญ่คนอื่น หรือเพื่อนที่น่าจะช่วยได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ
- ถ้าเพื่อนเข้ามาถึงตัว มีการทำร้ายร่างกาย หนีได้ให้รีบหนีไป เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่ถ้าจวนตัวจริงๆ อาจใช้กำลังเพื่อปกป้องตัวเอง แล้วรีบหนีไป


5. หากเด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรมอารมณ์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กแตกต่างจากคนอื่น เช่น สมาธิสั้น ออทิสติกสเปกตรัม สติปัญญาบกพร่อง วิตกกังวลมาก ต้องส่งปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับการประเมินและให้การรักษา


o การช่วยเหลือเด็กที่ไปแกล้งคนอื่น


1. ผู้ใหญ่ต้องเรียกเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งคนอื่นมาพูดคุย เช่น สาเหตุที่แกล้งเพื่อน ให้เด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งได้ทราบว่าผลที่จะตามมาจากการที่ไปแกล้งคนอื่นคืออะไร เช่น ต้องทำเวรเพิ่มขึ้น
2. แจ้งให้ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งรับทราบถึงพฤติกรรมของเด็ก เพื่อช่วยกันปรับพฤติกรรม หรือหากเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งมีปัญหาบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น ปัญหาการเรียน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม จะได้รับการช่วยเหลือต่อไป
3. ฝึกทักษะสังคมเพิ่ม เพราะเด็กที่ไปแกล้งคนอื่นมักจะมีปัญหาการเข้าสังคมบางอย่าง เช่น อยากเล่นกับเพื่อนแต่เล่นไม่เป็น เลยชวนเพื่อนเล่นด้วยการไปแหย่แกล้ง ฝึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และการแบ่งปัน เด็กอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อน แต่ไม่รู้วิธี เลยทำยังไงก็ได้ให้มีจุดเด่น



o การช่วยเหลือเด็กที่เห็นเหตุการณ์


1. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า การแกล้งกันเป็นพฤติกรรมไม่ดี ทั้งฝ่ายที่ถูกแกล้งและไปแกล้งต่างต้องรับผลเสียที่ตามมาจากการแกล้งกัน
2. เมื่อเกิดวงจรการแกล้งกัน ทุกคนจะไม่มีความสุข เพราะมีความรุนแรงเกิดขึ้น และสักวันทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเหยื่อที่ถูกแกล้งได้เหมือนกัน
3. คนที่เห็นเหตุการณ์สามารถหยุดสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ เช่น เข้าไปห้ามเอง, ตามผู้ใหญ่มาช่วย



o การฝึกให้เด็กมีทักษะป้องกันตัวเองและทักษะอื่นๆ


1. ปรับทัศนคติของผู้ใหญ่เรื่อง “การแกล้งกัน” ของเด็กว่าเป็นเรื่องใหญ่ (take it seriously) เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ใช่เรื่องที่เด็กจะจัดการกันได้เอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของความก้าวร้าวรุนแรงที่จะส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวกับเด็กทุกคนที่เกี่ยวข้อง ผู้ใหญ่ต้องไม่ตัดสินความรุนแรงของการแกล้งกัน แค่ทางร่างกายที่บาดเจ็บหรือทรัพย์สินที่เสียหาย แต่ต้องดูเรื่องบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นด้วย เพราะรูปแบบการแกล้งกัน เช่น พูดล้อเลียนปมด้อย ด่าว่า ใส่ร้าย นินทา กีดกันออกจากกลุ่ม หรือกลั่นแกล้งกันทางโซเชียลมีเดีย อาจไม่มีหลักฐานให้เห็นชัดเจน แต่กลับส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก เด็กจะรู้สึกไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการ บางคนเลือกวิธีหนีให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ด้วยการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
2. สอนให้เด็กรู้จักการปฏิเสธ (Assertive) เอาตัวรอด และการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น คุยเตรียมตัวกับเด็กเลยว่าถ้าถูกแกล้งต้องไปบอกใคร จัดการอย่างไร เช่น ถ้าถูกแกล้งตอนพัก ให้ไปหาครูที่ห้องพักครู
3. สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกแกล้ง เช่น มุมอับลับตาคนในโรงเรียน บริเวณที่เด็กเกเรไปรวมตัวกัน
4. ให้เด็กมีเพื่อนเป็น Buddy หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะเด็กที่จะแกล้งคนอื่น มักเพ่งเล็งเด็กที่อยู่คนเดียว ดูอ่อนแอ ไม่มีคนช่วย
5. สอนเด็กตั้งแต่อนุบาลเรื่อง “การแกล้งกัน” เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ ครูต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือแต่แรกๆ (Early Intervention) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด
6. สอนพฤติกรรมดีที่จะทำให้คนอื่นอยากเป็นเพื่อนด้วย เช่น มีน้ำใจแบ่งปัน พูดสุภาพ ไม่ล้อเลียนว่าปมด้อยของเพื่อน
7. ให้เด็กหัดคิดในมุมมองกลับกันว่า “ถ้าหนูถูกคนอื่นทำแบบนี้... หนูจะรู้สึกยังไง” เพื่อให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) “ถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นทำไม่ดีกับเรา เราก็อย่าไปทำกับคนอื่น” ฝึกให้เด็กคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของตัวเอง



• วิธีการดูแลตัวเอง หากเราเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกแกล้ง (bullying)


1. หลีกเลี่ยงหรือพยายามเอาตัวเองออกจากสังคม สถานการณ์ที่มีการกลั่นแกล้งกัน หากจำเป็นให้ระมัดระวังตัว คิดวิธีป้องกันตัวเอง หาทางหนีทีไล่
2. หากอีกฝ่ายแค่พูดแซะ แหย่ ล้อ ให้ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ควรตอบโต้ เพราะคนที่แกล้งจะยิ่งสนุกและทำมากขึ้น (Negative Attention)
3. บอกความรู้สึกของตัวเอง (I-message) และยืนหยัดสิทธิ (assertive) กับผู้กระทำ ต้องตั้งสติให้ได้ก่อน หากอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถบอกความรู้สึกได้ให้บอกไป เช่น “เราไม่ชอบที่เธอเอาเราไปนินทาเรื่องที่ไม่จริง สิ่งที่เธอพูดมันทำให้เราเสียหาย ถ้าเธอไม่พอใจหรือสงสัยอะไรมาคุยกับเราจะดีกว่า”
4. ระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้น เล่าเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งให้คนที่ไว้ใจฟัง ขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือ
5. ถ้าเรื่องการกลั่นแกล้งส่งผลเสียอย่างมากกับเรา ให้แจ้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการเรื่องนี้ คิดวางแผนให้รอบคอบว่าจะแจ้งใครบ้างและในรูปแบบไหน บางครั้งโลกไม่ได้ยุติธรรมกับเราเสมอไป เช่น การไปแจ้งกับหัวหน้าที่เข้าข้างอีกฝ่ายอาจทำให้ถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเดิม ดังนั้นต้องแจ้งกับหลายหน่วยงานและหลายคนเพื่อให้มีพยาน
6. บันทึกหลักฐานรูปแบบต่างๆ เช่น การอัดเสียง/อัดคลิป ภาพถ่าย การเขียนบันทึกไดอะรี่ การแค้ปข้อความเก็บไว้ เพื่อไว้ใช้ในการดำเนินการสอบสวนหรือทางกฎหมาย
7. ปรับวิธีการคิดว่าเราไม่ใช่ฝ่ายผิด เหยื่อบางคนโทษตัวเอง ตั้งสติให้ดี ทำความเข้าใจว่าเหยื่อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดและไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายในการที่จะบอกผู้กระทำหรือคนอื่นถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
8. มองหาข้อดีเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง คนที่ถูกกลั่นแกล้งมักจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง (low self-esteem) เช่น ถูกผู้กระทำต่อว่า คนรอบตัวโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ดังนั้น เราต้องพยายามหาข้อดีที่ตัวเองมีอยู่ ชื่นชมตัวเอง เรียกความมั่นใจในตัวเองให้กลับคืนมา เช่น การทำบางอย่างให้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อให้เรารู้สึกว่ายังควบคุมชีวิตตัวเองได้อยู่ (sense of mastery) ลองถามคนรอบข้างที่เราสนิทดูว่าตัวเรามีข้อดีอะไรบ้าง
9. หากมีความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้พบผู้เชี่ยวชาญ คนที่ถูกแกล้งมักมีปัญหาทางกายและจิตใจ บางคนหายเร็ว แต่บางคนเรื่องที่เกิดขึ้นกลายเป็นบาดแผลทางใจ ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น คิดวนเวียนเรื่องร้ายซ้ำๆ นอนไม่หลับ สมาธิความจำแย่ ดังนั้น การพบกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการช่วยเหลือรักษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ


cyber bullying


คอมเมนต์สร้างบาดแผลให้กับคนอื่นได้อย่างไร คอมเมนต์แบบไหนถึงสร้างสรรค์


การแกล้งกันทางโซเชียลมีเดีย (cyber bullying) เป็นเรื่องที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความรุนแรง คนที่ไปแกล้งคนอื่นด้วยการคอมเมนต์ (comment) ข้อความด่าทอหรือเป็นเท็จ (เกรียนคีย์บอร์ด) จุดประสงค์ที่ทำให้เขาเกรียนแบบนี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ชีวิตจริงเป็น nobody แต่เมื่ออยู่ในโลกโซเชียลมีเดียได้รับการยอมรับเป็น somebody เลยต้องเรียกร้องความสนใจด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง เป็นคนที่ความเครียดแล้วหาทางระบายออกไม่ได้เลยมาลงทางโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ตัวตน อยากทำอะไรก็ทำ


การคอมเมนต์ข้อความด่าทอหรือเป็นเท็จ ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกแย่สร้างบาดแผลทางใจกับเหยื่อมาก ส่วนใหญ่เหยื่อจะป่วยเป็นโรคทางใจตามมา เช่น โรคซึมเศร้า (depressive disorder) โรควิตกกังวล (anxiety disorder) โรคที่เกิดตามมาหลังจากเจอเรื่องเลวร้าย (PTSD- Post Traumatic Stress Disorder) บางคนทนรับความกดดันไม่ไหวจนทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ดังนั้น คอมเมนต์แย่ๆ ไม่ใช่แค่ข้อความที่อ่านแล้วก็ผ่านไป แต่คอมเมนต์นั้นได้กลายเป็นอาวุธที่กรีดทำลายร่างกายและจิตใจของเหยื่อ ดังนั้นก่อนที่กดพิมพ์โพสต์คอมเมนต์นั้นให้คิดให้ดี อย่าทำตามอารมณ์ หากอยากพิมพ์มากให้พิมพ์ทดไว้ในแอปพลิเคชันที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต อ่านทบทวนหลายรอบก่อนกดส่ง ที่สำคัญลองมองในมุมกลับกัน (empathy) ว่าถ้าเราหรือคนที่เรารักอยู่ในสถานการณ์เดียวกันแล้วถูกคนคอมเมนต์แบบนี้เราจะรู้สึกอย่างไร


คอมเมนต์ที่สร้างสรรค์ คือ การบอกความคิดเห็นของเรา (I-message) และเหตุผลประกอบ หากมีข้อแนะนำว่าถ้าเป็นตัวเราเจอเรื่องแบบนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไรจะทำให้การสื่อสารนั้นเป็นการสื่อสารที่มีคุณภาพและได้ประโยชน์






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม