ล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) หยุดให้ทัน ป้องกันซึมเศร้า


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

Sexual Harassment หมายถึง พฤติกรรมที่ฝ่ายหนึ่งแสดงออกถึงนัยยะทางเพศ ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่ดี ถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ Sexual Harassment มีหลายประเภท คนส่วนใหญ่มักคิดว่าจะแสดงออกทางร่างกายเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมีอีกหลายรูปแบบซึ่งสร้างบาดแผลทางใจให้กับเหยื่อได้เช่นกัน


การกระทำแบบไหนที่เรียกว่าเข้าข่าย?

1. สัมผัสทางกาย เป็นการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้กระทำ ไปสัมผัสกับร่างกายของเหยื่อ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตก่อน เช่น เเตะเนื้อต้องตัว การลูบไล้ โดยอวัยวะที่ใช้มีได้หลายส่วน เช่น มือ ขา สะโพก


2. คำพูด เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น หยอกล้อกันทางคำพูดทั้งทางตรง ทางอ้อม เล่นมุกตลกเรื่องเพศ เช่น “ทำไมแบนเหมือนไม้กระดาน” “เห็นแล้วแข็งเลย” เมื่อเหยื่อทำท่าไม่พอใจหรือสีหน้าไม่ดี ผู้กระทำมักจะพูดแก้ตัว เช่น “ล้อเล่นน่า” “คิดมากไปได้”


3. สายตาเเละสีหน้า เป็นรูปแบบที่ระบุได้ยาก ผู้กระทำส่งสายตาหรือแสดงออกทางสีหน้าที่ส่อถึงเรื่องทางเพศ โดยที่เหยื่อรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ได้ หากเหยื่อเห็นจะเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง เช่น การแลบลิ้นเลียรอบปาก การจ้องมองที่หน้าอก


4. ข้อความที่เขียนหรือพิมพ์ ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ เป็นข้อความที่สื่อถึงเรื่องทางเพศ ในโลกจริงอาจเป็นข้อความในโพสต์อิท เศษกระดาษที่ส่งไปให้เหยื่อ เช่น “ขอจับที” ส่วนในโลกออนไลน์มีได้หลายแบบ เช่น คอมเมนต์ การแชท ตัวอย่างเช่น บุคคลสาธารณะที่เจอข้อความแทะโลม “ผัวแห่งชาติ” “ขอพี่สักครั้ง”


5. ท่าทาง ท่าทางเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นรู้กันว่ามีความหมายทางเพศ เช่น ใช้มือสองข้างวางไว้ซ้อนกันเป็นมือบนมือล่าง แล้วตบดังป้าบๆ ท่าโยกสะโพก


ล่วงละเมิดทางเพศ

ผลกระทบที่ตามมาจากการถูก Sexual Harassment ผลกระทบมีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลเสียต่อเหยื่อ ทั้งในระยะสั้นและยาว เพราะการถูก Sexual Harassment นับเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจที่ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัว คุกคาม และไม่ปลอดภัย

• ผลทางร่างกาย (Physical Effects) มีอาการทางกายที่ตามมาจากความเครียด ส่งผลต่อร่างกายได้ทุกระบบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการกินการนอนได้


• ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects) กังวล เศร้าซึม โกรธ รู้สึกผิด โทษตัวเอง หมดความมั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นกับอนาคตที่จะมาถึง รู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD


ล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อถูกคนใกล้ตัว Sexual Harassment ควรทำอย่างไร Sexual Harassment สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใดหรือในสถานการณ์ไหน สิ่งที่ยากในการจัดการกับ Sexual Harassment เนื่องจากบางครั้งผู้กระทำเป็นผู้อาวุโส มีอำนาจ สามารถให้คุณให้โทษกับเหยื่อ เป็นคนที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี บางครั้งผู้กระทำมีการข่มขู่เหยื่อร่วมด้วย ทำให้เหยื่อไม่สามารถบอกใครและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
1. เอาตัวเองออกจากสังคมหรือสถานการณ์เสี่ยง หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนหรือสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิด Sexual Harassment หากจำเป็นให้คิดวิธีป้องกันตัวเอง หาทางหนีทีไล่ เช่น ส่งสัญญาณให้เพื่อนมาดึงตัวไป


2. บอกปฏิเสธกับผู้กระทำ ตั้งสติ ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังถูก Sexual Harassment หากเป็นไปได้ให้พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นก่อน หรือกล้าที่จะปฏิเสธ บอกผู้กระทำว่าสิ่งที่ผู้กระทำทำอยู่เป็นสิ่งที่ผิด


3. เล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง เล่าเรื่องและระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้คนที่เราไว้ใจฟัง ขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือ


4. แจ้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการเรื่องนี้คิดวางแผนให้รอบคอบว่าจะแจ้งใครบ้างและในรูปแบบไหน บางครั้งโลกไม่ได้ยุติธรรมกับเราเสมอไป เช่น การร้องเรียนอาจทำให้ถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเดิม อาจต้องแจ้งกับหลายหน่วยงานและหลายคนเพื่อให้มีพยาน


5. บันทึกหลักฐานรูปแบบต่างๆ เช่น การอัดเสียง อัดคลิป ภาพถ่าย การเขียนบันทึกไดอะรี่ การแค้ปข้อความเก็บไว้ เพื่อไว้ใช้ในการดำเนินการสอบสวนหรือทางกฎหมาย


ล่วงละเมิดทางเพศ


วิธีเยียวยาใจ เมื่อถูก Sexual Harassment

1. ปรับวิธีการคิดว่าเราไม่ใช่ฝ่ายผิด เหยื่อบางคนโทษตัวเอง ควรตั้งสติให้ดี ทำความเข้าใจว่า เหยื่อไม่ได้เป็นฝ่ายผิด และไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายในการที่จะบอกผู้กระทำหรือคนอื่นถึงเรื่องที่เกิดขึ้น


2. มองหาข้อดีเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง เหยื่อที่ถูก Sexual Harassment มักสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง (Low Self-Esteem) เช่น ถูกผู้กระทำต่อว่า คนรอบตัวโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ดังนั้นเราต้องพยายามหาข้อดีที่ตัวเองมีอยู่ ชื่นชมตัวเอง เรียกความมั่นใจในตัวเองให้กลับคืนมา เช่น การทำบางอย่างให้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อให้เรารู้สึกว่ายังควบคุมชีวิตตัวเองได้อยู่ (Sense of Mastery) ลองถามคนรอบข้างที่เราสนิทดูว่าตัวเรามีข้อดีอะไรบ้าง


3. หากมีความคิดอารมณ์พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้พบผู้เชี่ยวชาญ เหยื่อที่ถูก Sexual Harassment จะมีปัญหาทางกายและจิตใจ บางคนหายเร็ว แต่บางคนเรื่องที่เกิดขึ้นกลายเป็นบาดแผลทางใจ ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น คิดวนเวียนเรื่องร้ายซ้ำๆ นอนไม่หลับ สมาธิความจำแย่ ดังนั้นการพบกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการช่วยเหลือรักษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม