นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
“อยากเลิกให้ได้...ทำไมเลิกไม่ได้สักที”
“สงสารตัวเอง สงสารคนรอบตัว ไม่อยากเป็นแบบนี้แล้ว”
ในปัจจุบันนี้ มีผู้ติดสารเสพติดจำนวนมากที่อยากจะเลิกเสพให้ได้ เพียงแต่มีปัจจัยมากมายที่อาจทำให้การเลิกสารไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก ปัจจัยหนึ่งที่หลายคนเคยได้ยินคืออาการถอนยา หรือที่ภาษาทั่วไปเรียกว่าอาการลงแดง นั่นคือจะเกิดความทรมานทางร่างกายอย่างมากเมื่อไม่เสพ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลิกได้ยากคือเรื่องของสมองและความรู้สึก เพราะการเสพติดนั้นไม่ได้หมายความถึงแค่เกิดการติดทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่การเสพสารจะทำให้สารสื่อประสาทของสมองเปลี่ยนไป เกิดความรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เสพ แน่นอนว่าเมื่อเราพึงพอใจสิ่งใด เราก็จะยิ่งปล่อยมือละวางสิ่งนั้นได้ยากขึ้น
การเลิกเสพสารจึงเป็นความทรมานทั้งทางกายและทางใจอย่างแท้จริง แล้วต้องทำอย่างไร...หรือมีกุญแจสำคัญอะไร ที่เอื้อให้การเลิกติดสารเสพติดทางใจของผู้เสพบรรลุผล?
ปัจจัยที่สำคัญนั้น...คือ “แรงจูงใจ”
แรงจูงใจเป็นสิ่งที่ผลักดันและนำบุคคลไปสู่เป้าหมาย หากขาดแรงจูงใจไปแล้ว คนเราก็จะไม่อยากทำในสิ่งนั้นและไม่มุ่งมั่นอีกต่อไป การเลิกสารเสพติดก็ต้องอาศัยแรงจูงใจในการเลิกด้วยเช่นกัน ดังนั้นแนวทางบำบัดประเภทหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ต้องการเลิกเสพสาร คือ “การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Enhancement Therapy)” หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า MET
MET เป็นการบำบัดที่สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับการเสพติด โดยเน้นให้ผู้มารับบริการเกิดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง
ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับบริการรับรู้ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คืออะไร จากนั้นจึงร่วมกันวิเคราะห์
ทำความเข้าใจ ตั้งเป้าหมาย จัดการความคิดความรู้สึกและวางแผนร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้น
โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางในการบำบัด ซึ่งใน MET นี้ผู้รับบริการจะได้ข้ามผ่านขั้นของการเปลี่ยนแปลง (Stages of
Change) ตั้งแต่ขั้นที่อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเลย ไปสู่การรับรู้ปัญหา การตั้งมั่นเตรียมพร้อม
จนในที่สุดก็ลงมือจัดการเปลี่ยนแปลงตนเอง และทำให้ผลการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
จากนี้ผู้รับบริการจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้และพยายามที่จะไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
เนื่องจากเป็นแนวทางการบำบัดที่มุ่งมั่นให้เกิดการแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงนี้เอง MET จึงถูกนำมาใช้กับผู้รับบริการอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับในการบำบัดผู้เสพสารเสพติด โดยมีรายงานปี 2018 พบว่า MET สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเลิกเสพสารเสพติดโดยเฉพาะในผู้ติดสุราและกัญชา ซึ่งทำให้ผู้รับบริการเข้าร่วมในการบำบัดมากขึ้นและลดการเสพลงอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
• Motivational Enhancement Therapy (MET) โดย Good Therapy
• Principles of Drug Addiction Treatment: A Research-Based Guide (Third Edition), Motivational enhancement therapy (Alcohol, Marijuana, Nicotine) โดย National Institution on Drug Abuse
• What Is Motivational Enhancement Therapy (MET)? โดย Positive Psychology