ยารักษาโรคสมาธิสั้น


ภญ.สุปิตา อวชัย
เภสัชกร โรงพยาบาลมนารมย์


ยารักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง? ยารักษาโรคสมาธิสั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ


1. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองและประสาทส่วนกลาง
ยาที่ใช้ในประเทศไทย คือ Methylphenidate ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาได้ ซึ่งยากลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติ โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำหรับใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุมากกว่าเท่ากับ 6 ปี ทั้งนี้ การใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยยา Methylphenidate มี 3 รูปแบบ คือ
• ยา Ritalin® ซึ่งเป็นยารูปแบบปกติ ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 - 5 ชั่วโมง จึงต้องรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน หรือเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้สมาธิ
• ยา Ritalin® LA เป็นยารูปแบบแคปซูลประกอบไปด้วยตัวยาที่ออกฤทธิ์ทันที ร้อยละ 50 และยาที่ปลดปล่อยแบบชะลอ ร้อยละ 50 ซึ่งออกฤทธิ์หลังจากรับประทานไปแล้ว 4 ชั่วโมง เทียบเท่ากับการให้ยา Ritalin ชนิดเม็ด วันละ 2 ครั้ง ถ้าไม่สามารถรับประทานยาแคปซูลได้ สามารถกระจายเม็ดยาในแคปซูลลงในอาหารได้ แต่ห้ามเคี้ยวเม็ดยาเล็กๆ ในแคปซูล เนื่องจากมีผลต่อการปลดปล่อยฤทธิ์ยาได้
• ยา Concerta® และ ยา Methylphenidate Sandoz® เป็นยารูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน การรับประทานยาชนิดนี้ต้องกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวเม็ดยา และควรรับประทานยาในช่วงเช้า เพราะยาออกฤทธิ์ยาวถึง 12 ชั่วโมง สามารถพบเปลือกแคปซูลในอุจจาระได้แต่ไม่เป็นอันตราย เนื่องจากยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว


ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาออกฤทธิ์โดยการไป“กระตุ้น” เซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีสื่อประสาทมากขึ้นในระดับที่เด็กปกติควรจะมี สารเคมีตัวนี้เป็นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น และยังมีผลทำให้อาการซนอยู่ไม่นิ่งลดลง อาการหุนหันพลันแล่นขาดความยั้งคิดก็ลดลงด้วย เรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) เพิ่มขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้นอีกด้วย


ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ แต่อาการเหล่านี้มักหายไปเมื่อรับประทานยาติดต่อกันไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัว หากมีอาการปวดมวนท้องเมื่อรับประทานยาขณะท้องว่าง ให้ลองปรับเป็นรับประทานหลังอาหาร การหยุดยาในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์หรือปิดเทอมช่วยลดผลข้างเคียงนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีผลข้างเคียงก็สามารถให้รับประทานยาต่อเนื่องทุกวันได้


ยารักษาโรคสมาธิสั้น


2. กลุ่มยาที่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองหรือประสาทส่วนกลาง
• ยา Atomoxetine หรือชื่อการค้าว่า Strattera® จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยป็นยาที่มักถูกใช้ในกรณีที่ใช้ยา Methylphenidate แล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยา Methylphenidate ได้ แต่ต้องใช้เวลานาน 2-4 สัปดาห์ จึงเห็นผลเต็มที่ มีผลข้างเคียง คือ หัวใจเต้นเร็วความดันโลหิตสูง ง่วงนอน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
• ยา Clonidine จัดเป็นยาในกลุ่มลดความดัน สามารถลดอาการซนอยู่ไม่นิ่งได้ แต่ช่วยสมาธิได้ไม่ดีเท่า Methylphenidate ตัวยาออกฤทธิ์ช้าอาจใช้เวลานาน 4-8 สัปดาห์ จึงเห็นผลเต็มที่ มีผลข้างเคียง คือ ความดันเลือดลดลง ง่วงนอน ปากแห้ง ที่สำคัญควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจ



ยารักษาโรคสมาธิสั้น


ลูกจำเป็นต้องรับประทานยาไปนานแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละราย เด็กที่มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่และจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กบางคนที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน พ่อ แม่ ครู เข้าใจและให้ความช่วยเหลือเต็มที่ด้วยการปรับพฤติกรรมเพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เช่น การควบคุมตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การจัดตารางเวลา การจัดระเบียบวินัย ทำให้เด็กมักเกิดกำลังใจพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น เด็กหลายคนสามารถหยุดยาได้และหายจากโรคนี้จนไม่จำเป็นต้องกินยาอีก

ผลการรักษาด้วยยาลดลงได้เมื่อหยุดใช้ยา แต่การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมมีแนวโน้มคงอยู่ยาว เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา จึงควรรักษาด้วยยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม พ่อแม่ควรใส่ใจและประเมินอาการหลังการใช้ยาของเด็ก ไม่ควรหยุดยาเองเป็นอันขาด การหยุดยาควรปรึกษาและอยู่ในวินิจฉัยของแพทย์จะดีที่สุด







  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม