วิธีดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่อง


เกวรินทร์ ไชโยธา
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์

กรมสุขภาพจิตย้ำเตือนผู้ป่วยจิตเวช “อย่าขาดยาเด็ดขาด” แม้อาการดีขึ้นยังไม่ได้แปลว่าหายขาด ต้องรับประทานต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบ ป่วยซ้ำๆ บางรายมีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อันดับ 1 คือ การขาดยา


การที่ผู้ป่วยจะสามารถดูแลตนเองและให้ความร่วมมือในการรับประทานยาทางจิตเวชได้ครบถ้วนและต่อเนื่องนั้น มีปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความร่วมมือในการรับประทานยาหลายประการ ซึ่งอาจสรุปได้ 2 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้



ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง

1. ปัจจัยด้านผู้ป่วย
• ความตระหนักต่อการเจ็บป่วยทางจิต (illness awareness) การยอมรับการเจ็บป่วย (insight into illness) ทำให้มีพฤติกรรมดูแลสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงการรับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง


• ความเชื่อ ทัศนคติที่มีต่อยาและอาการข้างเคียงจากการรับประทานยา ผู้ป่วยที่มีความเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์ของยาว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้นจะให้ความร่วมมือในการรับประทานยา


• จิตพยาธิสภาพ (Psychopathology) อาการของโรคที่ไม่สงบ มีผลต่อความร่วมมือในการรับประทานยา เช่น ภาวะหวาดระแวง อาการหลงผิด อาการเศร้ามากขึ้น ไม่อยากทำอะไร ผู้ป่วยที่อาการของโรคสงบจะให้ความร่วมมือในการรับประทานยามากกว่าผู้ป่วยอาการกำเริบ


ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง

2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
• ครอบครัวเป็นผู้ที่สามารถสนับสนุน ให้กำลังใจ และช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
• เพื่อนที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยให้การยอมรับและสนับสนุนให้ผู้ป่วยรับประทานยา


ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง

วิธีดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่อง เมื่ออยู่ที่บ้าน มีดังนี้
1. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เป็น ความสำคัญของการรับประทานยาต่อเนื่อง อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการพูดคุยกับแพทย์ที่ให้การรักษา หากมีข้อสงสัยหรือไม่มั่นใจ สามารถสอบถามจากแพทย์ที่รักษาได้
2. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้เรื่องการรับประทานยา คือ รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ห้ามปรับหรือลดยาเอง

3. ผู้ป่วยจิตเวชบางรายที่อาการสงบ สามารถดูแลตนเองได้ จัดยารับประทานเองได้ ญาติควรตรวจเช็คตลอดว่า ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์หรือไม่ และหมั่นสังเกตอาการผู้ป่วย หากมีอาการหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดมากขึ้น พูดคนเดียว หรือเศร้ามากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน เนื่องจากผู้ป่วยอาจรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง หรืออาการอาจกำเริบจากสาหตุอื่น
4. ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการของโรคไม่สงบ ญาติต้องเป็นบุคคลที่ให้ผู้ป่วยรับประทานยา
• ดูแลให้รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ควรลดหรือเพิ่มยา หรือหยุดรับประทานยาเอง โดยต้องให้ผู้ป่วยกลืนยาต่อหน้า ตรวจเช็คยาในช่องปากของผู้ป่วยทุกครั้งหลังรับประทานยา และเฝ้าระวังการทิ้งยา หรือการล้วงคออาเจียนหลังรับประทานยา
• หากผู้ป่วยไม่ร่วมมือรับประทานยา ให้ถามถึงสาเหตุของการไม่รับประทานยา บอกถึงผลดีของยาที่มีต่อผู้ป่วยด้วยเสียงเป็นมิตร นุ่มนวล หากผู้ป่วยยังไม่ยอมรับประทานยา ให้ญาติโทรปรึกษาแพทย์ และพาผู้ป่วยมาพบแพทย์



ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง


อ้างอิงข้อมูลจาก

• การส่งเสริมความร่วมมือในการรับประทานยาสำหรับผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน จากวารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต โดย ดร.วัชรินทร์ วุฒิรณฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
• กรมสุขภาพจิต ย้ำเตือนผู้ป่วยจิตเวช อย่าขาดยาเด็ดขาด แม้อาการดีขึ้น โดย กรมสุขภาพจิต





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม