การพาผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา


นันทิยา พูนล้น
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช คือ การที่ผู้ป่วยเองไม่อยากมาพบแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชบางคนสูญเสียการรับรู้ในตนเอง คิดว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไร ไม่ยอมรับการเจ็บป่วย หรือบางคนมีอาการทางจิตที่รุนแรง เช่น หลงผิด ประสาทหลอน ก้าวร้าว อาละวาด ทำให้ผู้ป่วยเองไม่ยินยอมในการมารักษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการพาผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา



พาผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา


ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยจิตเวชมาพบแพทย์ง่ายขึ้น
1. การแสดงความเอาใจใส่ ญาติควรจะเฝ้าสังเกตว่าผู้ป่วย ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องอะไร หรือว่าเดือดร้อนในเรื่องอะไร ควรใช้คำพูดแสดงเจตนาดี แสดงถึงความห่วงใยของญาติ ในการถามไถ่ ชักชวนผู้ป่วยมาพบแพทย์ เช่น กรณีผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ ดูไม่สดชื่น อาจจะสอบถามว่าช่วงนี้นอนไม่หลับหรือเปล่า ดูไม่ค่อยสดชื่น ลองไปปรึกษาแพทย์ไหม จะได้มีแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม

หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดในเชิงตัดสินผู้ป่วยว่าเขาผิดปกติหรือคำพูดข่มขู่ให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ เช่น ป่วยหรือเปล่าเนี่ย ไปหาหมอไหม ถ้ามีปัญหามากจะจับส่งโรงพยาบาลนะ คำพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยกังวล กลัวการมาโรงพยาบาล กลัวการพบแพทย์ และไม่ร่วมมือในการรักษา

2. เสนอความช่วยเหลือ เช่น ช่วยค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์หรือโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญและเหมาะกับผู้ป่วย ในที่นี้หมายถึง มีความเฉพาะทาง กับอาการที่ผู้ป่วยเป็น มีความสะดวกในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการรักษา พร้อมทั้งช่วยติดต่อเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษา เช่น การนัดหมาย การเตรียมตัวมาพบแพทย์

ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกกังวลกับการมาโรงพยาบาลเพียงลำพัง ญาติหรือผู้ดูแลควรเสนอตัวมาเป็นเพื่อนจนกว่าผู้ป่วยจะหายกังวล หรือผู้ป่วยบางคนอาจต้องการความเป็นส่วนตัวในการมาโรงพยาบาล ญาติอาจใช้วิธีสอบถามอาการ ถามไถ่ความก้าวหน้าในการรักษาเป็นระยะ

3. ให้กำลังใจ การมาพบจิตแพทย์ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องป่วยเป็นโรค เพราะเพียงแค่มีปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถจัดการด้วยตนเองก็สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้แล้ว ถือเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจรุนแรงมากขึ้น หากปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการแก้ไข


พาผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา


4. การรักษาความลับ ญาติต้องให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยในการรักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยแก่บุคคลอื่นโดยที่ผู้ป่วยไม่อนุญาต เพราะปัญหาของผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มีความละเอียด ซับซ้อน และต้องการความเข้าใจ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยแก่บุคคลที่ผู้ป่วยไม่ได้ไว้วางใจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลและส่งผลเสียตามมาได้

5. การพูดความจริง การพูดความจริงเป็นสิ่งสำคัญ ญาติไม่ควรที่โกหกผู้ป่วยหรือหลอกพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพราะหากผู้ป่วยรู้จะทำให้ผู้ป่วยโกรธ ขาดความเชื่อใจในตัวญาติและต่อต้านการรักษา ซึ่งเป็นการปิดโอกาสและส่งผลกระทบในการรักษาในระยะยาว

ในกรณีที่ญาติประเมินแล้วว่าผู้ป่วยไม่น่าจะให้ความร่วมมือในการมารับการรักษา แม้ว่าจะใช้วิธีต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วก็ตาม ญาติสามารถมาพบแพทย์และปรึกษาแท โดยมาให้ข้อมูลอาการของผู้ป่วยกับแพทย์ก่อน เพื่อรับฟังคำแนะนำในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

พาผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา


6. การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่รุนแรงมาก เช่น หลงผิด ประสาทหลอน ก้าวร้าว อาละวาด ไม่ร่วมมือ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น มีโอกาสที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น อาจต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ ในการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล


ทั้งนี้ ในกรณีที่มาพบแพทย์แล้วแต่ยังรู้สึกไม่คลิกกับแพทย์ ผู้ป่วยสามารถแจ้งพยาบาลเพื่อขอเปลี่ยนแพทย์เป็นท่านอื่นในครั้งถัดไปได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะเกิดปัญหาใดๆ






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม