เกวรินทร์ ไชโยธา
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
เคยบ้างหรือเปล่าที่บางครั้งเรารู้สึกอ่อนแอหรืออ่อนไหวง่ายกับบางอย่าง ความรู้สึกเหล่านี้มองภายนอกอาจรู้สึกอ่อนโยน แต่ความจริงแล้ว บุคลิกภาพของคนที่อ่อนไหวต่อสิ่งรอบตัวเป็นพิเศษ หรือ Highly Sensitive Person (HSP) ทำให้เราอาจแสดงออกต่อสิ่งนั้นๆ มากเกินไป ตามประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งแสง สี เสียง และกลิ่น เช่น การมองเห็นสุนัขที่เจ็บป่วยทำให้รู้สึกสงสาร ร้องไห้ตามไปด้วย หรือการได้ยินเสียงรอบตัวแล้วทำให้รู้สึกหงุดหงิดหรือเศร้าตามสิ่งที่ได้ยิน เป็นต้น ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพนี้มักเป็นคนที่ร้องไห้หรือวิตกกังวลง่าย
เกิดขึ้นได้อย่างไร
บุคลิกภาพที่อ่อนไหวนี้ มีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทส่วนการรับรู้มีความแอคทีฟมากกว่าคนอื่นทำให้มองโลกและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างไป โดยมัก “อิน” เป็นพิเศษกับสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเฉยๆ
Highly Sensitive People ลักษณะของคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษเป็นอย่างไร
• มักมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่าผู้อื่น
• มีห้วงอารมณ์ที่อ่อนไหว เต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลายผสมปนเปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกซาบซึ้ง ดีใจ หรือความรู้สึกด้านลบ อย่างความรู้สึกผิด อับอาย กลัว หรือเจ็บปวด
• ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น คนที่มีบุคคลิกภาพแบบ HSP มักพยายามสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจและไม่เป็นตัวเองทำให้มีความกดดัน อีกทั้งมีคนไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจคนที่มีบุคลิกภาพประเภทนี้ ทำให้เกิดการไม่ยอมรับและนำไปสู่ปัญหาสัมพันธภาพในที่สุด
• ปัญหาด้านสุขภาพ ความกังวลและการคิดมากเกินไป ทำให้เหล่า HSP ประสบโรคเรื้อรังอยู่บ่อยครั้ง เช่น การนอนไม่หลับ โรค IBS หรือลำไส้
รับมือกับอารมณ์อ่อนไหวของตนเองอย่างไร
อาการอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษสามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติใหม่ รวมถึงการสร้างพฤติกรรมเล็กๆ ที่ดี ก็ช่วยให้คุณสามารถรับมือกับอารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละวันได้
• หยุดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
พยายามหยุดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ยอมรับตัวตนของตนเองทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี สิ่งนี้ช่วยเสริมสร้างความเป็นคุณ โดยที่คุณค่าของคุณไม่ถูกลดทอนลงไป การสร้างกำลังใจให้ตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยคุณต้องตั้งปฏิญาณในทุกๆ วันใหม่ว่า ‘คุณสุดยอดไปเลย’ ช่วยให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสวยงาม
• พัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้ตัวเอง
บ่อยครั้งที่คนประเภท HSP มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือแม้กระทั่งสัตว์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เหล่าคน HSP มักมองข้ามไปคือ ‘ตัวเอง’ ควรถามตัวเองให้เป็นประจำ คือ ‘ฉันจะทำแบบนี้กับพ่อ แม่ เพื่อน หรือคนที่รัก เหมือนกับที่ฉันทำกับตัวเองไหม?’ ถ้าหากคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็อย่าทำกับตัวเอง
• วางขอบเขตให้กับตัวเอง
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการลองลดขอบเขตอารมณ์ของคุณลง ซึ่งอย่างแรกอาจต้องแสดงความรักต่อตัวเองให้ได้ก่อน เมื่อทำได้คุณก็จะไม่พาตัวเองไปมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวของผู้อื่น
ขั้นตอนที่ 2 จำไว้ว่าพฤติกรรมแย่ๆ จากการกระทำของคนอื่นที่มารบกวนความคิดคุณ เป็นเพราะคุณอนุญาตให้มันเกิดขึ้น และจะไม่มีอะไรเข้ามาทำร้ายจิตใจคุณได้ ถ้าคุณไม่ปล่อยให้มันเข้ามาตั้งแต่แรก ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความคิด หรือการกระทำของคนอื่นมามีอิทธิพลต่อคุณมากเกินไป
HPS มีแค่ข้อเสีย จริงหรือไม่
บุคลิกภาพแบบ HSP ไม่ได้แย่อย่างที่คิด อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ ผู้ที่เป็น HSP จึงไม่ต้องกังวลต่ออาการของตนที่ไปกระทบคนอื่นๆ แม้ว่าต้องใช้ระยะเวลา แต่ก็สามารถปรับชีวิตของตัวเราเองให้อยู่ร่วมกับการเป็น HSP ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ยังมีข้อดี คือ ผู้ที่เป็น HPS เป็นคนละเอียดและสังเกตคนรอบข้างได้ดี จึงมีแนวโน้มเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่น และมักเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากกระบวนการคิดของพวกเขามีหลายชั้นและซับซ้อน ทำให้สามารถคิดค้นหรือสร้างสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่และสะดุดตาอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง
คนอื่นจะต้องรับมือกับคนอารมณ์อ่อนไหวอย่างไร
ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ HSP และทราบถึงข้อจำกัด เพื่อให้สามารถพูดคุย และอยู่ร่วมกับคนที่อ่อนไหวง่าย
อ้างอิงข้อมูลจาก
• กันตาภา วรวิทยานนท์.(2021). HSP (Highly Sensitive Personality) แค่อ่อนไหวไม่ได้อ่อนแอ.สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2565 จาก. https://www.arts.chula.ac.th/~artsgoz/wordpress/index.php/archive/hsp-highly-sensitive-personality/
• รู้จักคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ ผ่านหนังสือ “The Handbook for Highly Sensitive People” | MM EP.1451.(2022). สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2565 จาก https://missiontothemoon.co/psychology-the-handbook-for-highly-sensitive-people/