นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์
เชื่อว่าหลายท่านเคยฟังเพลงที่ชื่อว่า ‘หวงรัก’ ซึ่งแม้อายุเพลงจะนานแล้ว แต่ความคลาสสิคของเพลงนี้คือเนื้อหาที่พูดถึงความรู้สึกในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ที่อาจมีความซึ้งใจ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยังปนไปด้วยความหน่วงๆ เพราะว่า...
‘รักของใครของใครก็ห่วง รักใคร ใครก็ต้องหวง ห่วงคนรักดั่งดวงใจ
ใครจะยอมยกไปให้ใคร รักใครก็ใครต่างหวงไว้ครอบครอง’
อารมณ์หึงหวงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในการมารับบริการทางสุขภาพจิตโดยเฉพาะเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ คนเราจะเริ่มหึงหวงเมื่อรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่เราให้คุณค่าถูกคุกคามจากบุคคลภายนอกความสัมพันธ์นั้น อารมณ์หึงหวงมักเกิดจากหลายความรู้สึกรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเสียใจ ความกลัวต่อการสูญเสียสิ่งที่รัก หรือแม้แต่ความอับอาย ซึ่งแต่ละคนจะมีอารมณ์เหล่านี้ผสมในความหึงหวงไม่เท่ากัน รวมถึงมีระดับของความหึงหวงโดยรวมต่างกันด้วย
มีนักวิจัยศึกษามานานแล้วว่า คนที่หึงหวงมากนั้นมักสัมพันธ์กับความรู้สึกเหงา การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ รวมถึงในคนที่มีภาวะก้าวร้าวก็อาจแสดงความหึงวงออกมาผ่านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย ทั้งนี้ อารมณ์หึงหวงเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่แค่กับคู่รัก เพราะแม้แต่เพื่อนก็หวงเพื่อนด้วยกันได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงก็หวงเจ้าของตนเองได้เหมือนกัน
ทีนี้ ในเมื่ออารมณ์หึงหวงเป็นประสบการณ์ทางใจที่ไม่อยากพบเจอ ไม่อยากให้เกิดขึ้น และพอเกิดขึ้นมาแล้วก็รับมือยากเช่นกัน สิ่งที่เราพอจะทำได้บ้างเพื่อจัดการกับอารมณ์หึงหวง มีดังนี้
• พูดคุย
อาจเป็นวิธีที่ยากที่สุดและตรงที่สุด แต่การได้พูดคุยกับบุคคลในความสัมพันธ์อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ทำความเข้าใจและอธิบายซึ่งกันและกัน มีการทำข้อตกลงร่วมกันในความสัมพันธ์ซึ่งอาจสร้างความสบายใจให้มากกว่า ช่วยกันหาจุดที่ละเลยและเสริมสร้างความสัมพันธ์ ในการพูดคุยควรเป็นไปด้วยเหตุผลและการกำกับอารมณ์ที่เหมาะสม
• ให้เวลากับตัวเอง
บางครั้งการแบกรับคนเดียวอาจหนักเกินไป จึงต้องหาความช่วยเหลือจากผู้ที่เราไว้วางใจในเบื้องต้น ถ้าหากคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความยากลำบากต่อภาวะทางจิตใจ อาจเข้ารับการบริการทางสุขภาวะจิต เพื่อให้บุคลากรทางสุขภาพจิตได้ให้การสนับสนุน เอื้อให้มีทางออกอย่างเหมาะสม หรือใช้การบำบัดแบบปัญญาพฤติกรรมนิยม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อสำรวจความคิด อารมณ์ ความรู้สึก นำไปสู่การปรับและทำความเข้าใจภาวะทางใจของเราเอง
• หาแหล่งสนับสนุน
บางครั้งการแบกรับคนเดียวอาจหนักเกินไป จึงต้องหาความช่วยเหลือจากผู้ที่เราไว้วางใจในเบื้องต้น ถ้าหากคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความยากลำบากต่อภาวะทางจิตใจ อาจเข้ารับการบริการทางสุขภาวะจิต เพื่อให้บุคลากรทางสุขภาพจิตได้ให้การสนับสนุน เอื้อให้มีทางออกอย่างเหมาะสม หรือใช้การบำบัดแบบปัญญาพฤติกรรมนิยม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อสำรวจความคิด อารมณ์ ความรู้สึก นำไปสู่การปรับและทำความเข้าใจภาวะทางใจของเราเอง
เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจรู้สึกว่าอารมณ์หึงหวงค่อนข้างเป็นเรื่องไม่ดี อย่างไรก็ตาม อารมณ์หึงหวงอาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เราตระหนักและปกป้องตนเองในความสัมพันธ์ ซึ่งหากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้ความสัมพันธ์และตัวเราเองเกิดความมั่นคงหรือเติบโตได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
• Jealousy. จาก Psychology Today
• Five strategies to manage jealousy: Lessons from the cutting edge for everyone. จาก Psychology Today
• Cognitive behavioral therapy for romantic jealousy: How can we understand problematic jealousy and help people cope better? จาก Psychology Today
• Friendship jealousy in young adolescents: individual differences and links to sex, self-esteem, aggression, and social adjustment. จาก Developmental Psychology