เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ใช่ไบโพลาร์หรือเปล่านะ?


พญ.นัฏศรา ดำรงค์พิวัฒน์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

"เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย นี่ชั้นเป็นไบโพลาร์หรือเปล่านะ?" ประโยคยอดฮิตที่เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นจากคนในสังคมปัจจุบัน จนทำให้โรคไบโพลาร์ถูกเข้าใจผิดไปอย่างมหันต์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องไขความลับอธิบายให้ทุกคนได้รู้และเข้าใจจริงๆ เสียทีว่า “เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย” คืออะไร เป็นแค่อารมณ์ นิสัย หรือโรคไบโพลาร์ กันแน่!!!
ก่อนอื่นมารู้จักกับ “อารมณ์” กันก่อนว่า ต้องหนักหน่วงแค่ไหน ถึงควรไปพบแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางอารมณ์หรือไม่ ซึ่งวิธีสังเกตด้วยตนเองง่ายๆ มีดังนี้
• “มาก” เกินอารมณ์ปกติ เช่น อารมณ์ดีมากจนมั่นใจในตัวเองเกินไป หรือเศร้าหดหู่มากจนมองตนเองแย่ โทษตัวเองบ่อย เบื่อหน่ายสิ่งที่เคยชอบ
• ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้
• กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว



Bipolar

โรคทางอารมณ์ คืออะไร มีอะไรบ้าง?


โรคทางอารมณ์ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งในสภาวะปกติเราเคยควบคุมได้ แต่ในช่วงที่มีโรคทางอารมณ์ เราจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เท่าเดิม ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งโรคทางอารมณ์ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

1. โรคซึมเศร้า


2. โรคไบโพลาร์


3. Dysthymia อารมณ์เศร้าในระดับน้อยแต่เศร้านานเกิน 2 ปี


4. Organic Mood Disorder โรคทางอารมณ์ที่สัมพันธ์กับโรคทางร่างกาย


5. Premenstrual Dysphoric Disorder ภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดู




Bipolar

ส่วนโรคไบโพลาร์ หนึ่งในโรคทางอารมณ์ที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่า คือ อาการเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ขี้เหวี่ยง ขี้วีน นิสัยไม่ดี!!! ที่จริงแล้วมีอาการแบบไหนกันแน่



โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์หลักๆ 2 ขั้ว คือ ขั้วเศร้า และ ขั้วคึก (ขั้วแมเนีย) อารมณ์แต่ละขั้วต้องดำเนินอยู่นานพอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ เร็ว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในช่วงอารมณ์ปกติได้ และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มีสาเหตุจากหลายปัจจัย มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นไบโพลาร์มีโอกาสเป็นโรคสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3- 4 เท่า และสามารถพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น การใช้สารเสพติด ฯลฯ ช่วงภาวะเศร้าในโรคไบโพลาร์ เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปอย่างชัดเจน สามารถสังเกตลักษณะอาการเด่นชัดของขั้วเศร้าและขั้วคึก ได้ดังนี้


ขั้วเศร้า มีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้า โดยมีอาการต่อเนื่องกันทุกวันหรือเกือบทุกวัน มากกว่าหรือเท่ากับ 2 สัปดาห์
1. อารมณ์ : เศร้ามากขึ้น หดหู่มาก เบื่อ ท้อแท้ หงุดหงิด
2. ความคิด : คิดลบ โทษตัวเอง ไม่มั่นใจ ไร้ค่า สิ้นหวัง คิดช้า สมาธิไม่ดี ลืมง่าย คิดอยากตาย
3. พฤติกรรม : เบื่ออาหารหรือกินมากขึ้น นอนไม่หลับ อยากนอนทั้งวัน อ่อนเพลีย




Bipolar


ขั้วคึก ต้องประกอบด้วยอาการ 3 กลุ่ม คือ อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม (ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) โดยมีอาการต่อเนื่องกันมากกว่าหรือเท่ากับ 1 สัปดาห์
1. อารมณ์ : อารมณ์ดีมาก คึกคัก สนุกสนานมากเกินปกติ หงุดหงิดมาก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายกว่าเดิม
2. ความคิด : มั่นใจมาก พลังเยอะ เจ้าโปรเจค หลงผิด มีความคิดในหัวมากมาย ความคิดแล่นในหัวเร็วมาก ว่อกแว่ก หุนหันพลันแล่น
3. พฤติกรรม : พูดเยอะ พูดเร็ว ขาดความชั่งใจ ใช้เงินเยอะจนเป็นหนี้สิน พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย นอนน้อยหรือไม่อยากนอน


“โรคทางอารมณ์ ซึมเศร้า ไบโพลาร์ ไม่ใช่แค่อารมณ์ไม่ดี ไม่ใช่นิสัยไม่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องของใจ แต่เป็นเรื่องของ สมอง ด้วย”



โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่รักษาให้ดีขึ้นและหายได้ การหายจากอาการมีหลายแบบ มีทั้งกินยาต่อเนื่อง 1-2 ปี แล้วหยุดกินยาได้ หรือแบบที่จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องไปตลอด ใช้ชีวิตได้ ทำงานได้ และไม่มีอาการกลับมา ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของตัวโรค ความร่วมมือ และวินัยในการรักษาและกินยา


ปัจจุบันมีการรักษาหลัก 2 แบบ คือ
1. การรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามีหลากหลาย ขึ้นกับอาการของแต่ละคน
2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งการรักษาด้วยไฟฟ้าเลือกใช้ในกรณีอาการรุนแรง รักษาด้วยยาหลายชนิดแต่ไม่ได้ผลการตอบสนองที่ดีหรือต้องการผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน โดยแนวทางการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและถูกเลือกเป็นทางเลือกแรก คือ รักษาด้วยยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด



Bipolar

การดูแลตนเองเมื่อเป็นไบโพลาร์สามารถทำได้โดยการเรียนรู้และรู้จักอาการไบโพลาร์ในตัวเรา ช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีและป้องกันการเป็นซ้ำได้ดียิ่งขึ้น แม้จะได้รับการวินิจฉัยโรคไบโพลาร์เหมือนกัน แต่อาการแสดงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด การรักษา กินยาต่อเนื่อง และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ


เมื่อมีภาวะซึมเศร้า ต้องไม่ยอมรับว่าตัวตนของเราแย่ที่เรามีภาวะเศร้า ตัวตนของเราไม่ได้แย่ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแย่คือตัวโรค อย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ ในช่วงที่มีภาวะเศร้า อย่าตำหนิหรือลงโทษตนเองแรงเกินไป อย่าท้อแท้กับการเป็นซ้ำและอย่าเบื่อหน่ายกับการรักษา


ส่วนช่วงคึกหรือแมเนีย ควรระวังการใช้จ่ายในช่วงอารมณ์ดีมากๆ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย ทั้งหมดน่านี้จะเป็นคำตอบของคำถามต้นเรื่องว่า "เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย นี่ชั้นเป็นไบโพลาร์หรือเปล่านะ?" ได้กระจ่างขึ้น สุดท้ายขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ต้องเผชิญกับโรคนี้เพราะ “ไบโพลาร์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด”


Bipolar





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม