Toxic Relationship ไปต่อหรือพอแค่นี้


วาทมอน แก้วสมสอน
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic relationship) อาจเกิดกับความสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส คู่รัก ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า-ลูกน้อง หรืออื่นๆ Toxic relationship เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่น กีดกันไม่ให้ก้าวหน้า ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ให้เกียรติ ขาดความไว้วางใจกัน ไม่รับฟัง สื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่ไม่สร้างสรรค์ เหินห่างทางอารมณ์ ขาดความโรแมนติก หึงหวงเกินเหตุ ควบคุมหรือรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว อิจฉาริษยา พูดถึงแต่ข้อเสียของกัน ใส่ร้ายป้ายสี สาดอารมณ์ใส่กันแม้ในเรื่องเล็กน้อย เป็นต้น คนที่ตกอยู่ในวังวนของ Toxic relationship จะรู้สึกว่าความสุขลดน้อยถอยลงทุกวัน หลายคู่พยายามปรับตัวเข้าหากัน แต่ส่วนใหญ่มักคาดหวังให้อีกฝ่ายเป็นคนปรับ ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ และเมื่อเกิดขึ้นยาวนานเรื้อรังก็เกิดความเบื่อหน่าย โกรธ หมดพลัง ท้อแท้ ไร้ค่า เศร้า หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตเวชที่รุนแรงตามมาได้


เมื่อ Toxic relationship เดินทางมาใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ความรู้สึกอยาก “ตัดจบ” ความสัมพันธ์มักวนเวียนเข้ามาในสมองของคุณครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะลังเล กลัวการสูญเสีย หรือกลัวผลกระทบภายหลังจบความสัมพันธ์ เพราะในทุกความสัมพันธ์ รวมถึง Toxic relationship จะมีเรื่องราวความทรงจำดีๆ ปะปนอยู่ คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถตัดจบ Toxic relationship ได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงทางแยกที่คุณต้องตัดสินใจว่าจะ“ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” ไม่ว่าคุณจะเลือกเส้นทางใด ผู้เขียนขอเสนอ “เทคนิคการรับมือ” ที่หวังว่าจะช่วยให้คุณเดินไปตามเส้นทางที่เลือกอย่างมั่นใจและปลอดภัยขึ้น


Sensory integration

4 เทคนิคการรับมือ ถ้าเลือกจะ “ไปต่อ”
1. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ กี่ครั้งแล้วที่คุณนำวิธีการเดิมๆ มาปัดฝุ่นใช้ซ้ำ? ถ้ามันเคยใช้ได้ผล คุณจะยังเป็นทุกข์อยู่กับ Toxic relationship จนถึงทุกวันนี้ไหม ถึงเวลาแล้วที่ต้องไปเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ซึ่งนอกจากคุณจะได้เรียนรู้เทคนิคการรับมือที่ถูกต้องแล้ว คุณยังจะได้รับการประเมินสภาพจิตใจด้วยว่าคุณมีความพร้อมที่จะ “ไปต่อ” มากน้อยเพียงใด ต้องการเวลาในการหยุดพักเยียวยาตัวเองก่อนไหม หรือสะบัดบ๊อบไปต่อได้เลย
2. ฝึกทักษะการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ (Assertiveness) ถือเป็นอาวุธสำคัญในการรับมือกับคน Toxic (ควรรับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด) เช่น การสื่อสารแบบ I- statement ที่ประกอบด้วย (1) บอกความรู้สึกของเรา (2) บอกเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น และ (3) บอกความคาดหวังของเรา ตัวอย่างการสื่อสารแบบ I- statement
• ฉันไม่พอใจ (บอกความรู้สึกของเรา) ที่คุณโทรไปยกเลิกนัดงานมิตติ้งของฉันโดยที่ไม่ปรึกษาฉันก่อน (บอกสิ่งที่เกิดขึ้น) คราวหน้าขอให้ฉันเป็นคนตัดสินใจเองนะคะ (บอกความคาดหวังของเรา)
• ฉันรู้สึกอึดอัด (บอกความรู้สึกของเรา) ที่เธอขอยืมเงินฉันบ่อยๆ (บอกเหตุการณ์) ต่อไปขอให้เราคบกันโดยไม่ต้องยืมเงินกันนะ (บอกความคาดหวังของเรา)
3. ปรับปรุงจุดอ่อนที่ทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของ Toxic relationship ได้ง่าย เช่น ปฏิเสธไม่เป็น ขาดความมั่นใจ ขี้กังวล เชื่อคนง่าย ยอมตาม ชอบโทษตัวเอง ไม่กล้าเผชิญความขัดแย้ง ชอบพึ่งพา อ่อนไหวง่าย เป็นต้น
4. “ปล่อยผ่าน” กับเรื่องที่เกินเยียวยา แม้คุณจะฝึกทักษะต่างๆ จนเก่งขึ้นแล้ว ก็อย่าได้คาดหวังผิดๆ ว่าคุณจะรับมือ Toxic relationship ได้ทุกเรื่อง เรื่องอะไรก็ตามที่อาจไปสั่นคลอน “นิสัยถาวร” หรือ “หลุมดำ” ของคนอื่น เราไม่ควรไปก้าวก่ายหรือพยายามเปลี่ยนแปลงเขา การยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นและมุ่งปรับแก้ที่ตัวเราเองจะทำให้เราอยู่กับ Toxic relationship ได้ง่ายขึ้น


Sensory integration

4 เทคนิคการรับมือ ถ้าเลือกจะ “พอแค่นี้”
1. วางแผนให้รอบด้านก่อนจบความสัมพันธ์ ถ้าเป็นไปได้ คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคนใกล้ชิดที่มีประสบการณ์มาช่วยวางแผน และควรคิดแบบ Worst-case scenario โดยจัดทำรายการผลกระทบในทางร้ายออกมาให้หมดภายหลังจบความสัมพันธ์ แล้วคุณจะมองเห็นแนวทางป้องกันที่ชัดเจนและรอบด้านขึ้น เช่น ถ้าเลิกกับสามีคุณต้องขาดรายได้ ดังนั้น คุณต้องวางแผนเรื่องการเงินให้ดีก่อน ความสัมพันธ์บางรูปแบบอาจไม่สามารถตัดจบได้เด็ดขาด เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน คุณต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ไว้แค่ไหนอย่างไร
2. หาเวลาและสถานที่เหมาะๆ ในการพูดคุยยุติความสัมพันธ์ เลือกคุยในช่วงเวลาที่คุณและเขาอารมณ์ดี และคาดว่าจะไม่มีสิ่งรบกวนระหว่างพูดคุย ส่วนสถานที่ให้เลือกที่ๆ คุณจะปลอดภัยที่สุด ไม่ควรเป็นสถานที่ที่วุ่นวายหรือลับตาคนมากเกินไป ที่สำคัญควรหาคนที่ไว้ใจได้มาอยู่เป็นเพื่อนคุณด้วยเผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น
3. ตัดหรือจำกัดช่องทางการติดต่อ เมื่อคุณและเขายุติความสัมพันธ์กันแล้ว อย่าปล่อยให้ “ความเยื่อใย” ลากคุณกลับมาจมปลักที่เดิมอีก ถ้าตัดช่องทางการติดต่อไม่ได้ ก็ให้ลดหรือจำกัดช่องทางการติดต่อลง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางบุคคล เบอร์โทรศัพท์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย พิจารณาเปลี่ยนที่อยู่หรือที่ทำงานด้วยหากคุณกังวลเรื่องความปลอดภัย
4. ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง ในช่วงแรกของการยุติความสัมพันธ์ คุณอาจรู้สึกกังวล กลัว เศร้า เหงา โกรธ หรืออาจเกิดความรู้สึกอื่นๆ ซึ่งมันเป็นกระบวนการปกติของจิตใจคนเราที่เกิดขึ้นเมื่อประสบกับการสูญเสีย ควรอนุญาตให้ตัวเองได้ก้าวผ่านความรู้สึกเหล่านั้นไปตามขั้นตอน ระหว่างนี้ก็ใส่ใจดูแลตนเองให้มากขึ้นทั้งทางกายและใจ อาจไปท่องเที่ยว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารดีๆ อยู่กับผู้คนหรือในสถานที่ที่ให้พลังบวกกับคุณ หากความรู้สึกทางลบส่งผลกระทบรุนแรง หรือเกิดขึ้นยาวนานกว่า 6 เดือน ควรพิจารณาไปพบผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นการดูแลตนเองเช่นกัน


ไม่ว่าจะตัดสินใจว่า “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” จากความสัมพันธ์ที่เลวร้าย อาจไม่เหมือนกันทุกคน ทุกอย่างต้องใช้เวลา และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง การที่เจ็บปวดซ้ำซาก ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ถึงเวลาแล้วที่คุณจะเลือกเพื่อก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งนี้




อ้างอิงข้อมูลจาก

• หนังสือ เธอหรือฉัน ใครกันที่ Toxic โดย Dr.Tim Cantopher
• หนังสือ มูฟออนชีวิตถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ TOXIC PARENTS โดย ดร.ซูซาน ฟอร์เวิร์ด และ ดร.เครก บัก
• หนังสือ HEALING FROM TOXIC RELATIONSHIPS: 10 Essential Steps to Recover from Gaslighting, Narcissism, and Emotional Abuse โดย Stephanie Moulton Sarkis
• 9 Ways to End a Toxic Relationship: Here's how to say "goodbye to all that" for good. จากhttps://www.prevention.com/life/a28005124/ending-toxic-relationships/
• ถอดบทสัมภาษณ์ เรื่อง “Toxic People” ความ Toxic ในมุมมองทางการแพทย์ โดย นายแพทย์ณัฏฐชัย รำเพย จิตแพทย์ https://www.youtube.com/watch?v=okZOzODhiu8






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม