วัลลภา วิจิตร
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
คุณเคยมีอาการแบบนี้ไหม มองโรคในแง่ร้าย มีความคิดแย่ๆ ผุดเข้ามาอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งไม่ได้อยากจะคิดแต่มันเข้ามาเองโดยไม่รู้ตัว แถมยังเอาออกไปจากหัวไม่ได้อีก รู้สึกไม่ชอบที่ตัวเองเป็นแบบนี้เลย
สังเกตพฤติกรรมคิดลบโดยไม่รู้ตัว
วิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ หากคุณมีพฤติกรรมต่อไปนี้ คุณอาจเป็นคนคิดลบโดยไม่รู้ตัว
“ทำไมฉันถึงทำอะไรก็ไม่สำเร็จ”
“ไม่มีใครเข้าใจฉันเลย”
“ตากระตุกขวา วันนี้ต้องเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับฉันแน่ๆ”
“ยัยคนนั้นสอบได้ท็อปตลอดต้องแอบหลอกข้อสอบแน่ๆ”
“ทำไมชีวิตฉันมันถึงเหนื่อยยังงี้”
“ถ้าตอนนั้นฉันตั้งใจเรียนให้จบ ฉันคงไม่ต้องมาลำบากขนาดนี้”
“เด็กสมัยนี้ ทำไมขี้เกียจจัง”
“ผลงานฉันทำออกมาดี ทำไมถึงไม่ได้รางวัลอะไรเลย”
“ถ้าแม่ไม่มายุ่งเรื่องของหนู หนูคงทำได้ดีกว่านี้”
จัดการความคิดติดลบได้อย่างไร
ต้องทำอย่างไรถึงจะเอาความคิดพวกนี้ออกไปจากหัวเราได้ มาดูวิธีเบื้องต้นในการจัดการกับความคิดลบกัน
1. ลองฝึกสำรวจความคิด อาจใช้เป็นวิธีการจดบันทึกดูว่า ตลอดทั้งวันในแต่ละวันเรามีความคิด อารมณ์และความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง ทบทวนดูว่าถ้ามีความคิดเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรตามมา
2. ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ เมื่อทำผิดพลาดให้เรายอมรับว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว เพราะถ้ายิ่งปฏิเสธ ยิ่งย้อนกลับไปคิด จะทำให้ความคิดลบเหล่านั้นวนเวียนอยู่ในหัวเราไม่รู้จบ
3. สับสวิตซ์ความคิดลบให้เป็นบวก โดยการเปลี่ยนมุมมองความคิดให้เป็นด้านบวกมากขึ้น อาจเริ่มจากการมองหาข้อดีของตนเองหรือตั้งเป้าหมายเล็กๆ ประจำวัน เมื่อทำสำเร็จก็ฝึกชื่นชมตนเองบ่อยๆ จะทำให้เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองขึ้นมาได้
4. มองหาหลุมหลบภัย ลองหาคนไว้ใจได้ที่สามารถเล่าเรื่อง ระบายความคิด ความรู้สึกเหล่านั้นออกมา เปรียบเสมือนการเก็บกวาดขยะความคิดแย่ๆ ออกไป เพิ่มพื้นที่ในหัวให้รับพลังบวกเข้ามา
อย่างไรก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจว่า ความคิดลบไม่ได้หายไปได้ง่ายๆ ต้องฝึกจัดการทำเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย วันหนึ่งเมื่อต้องเจอเรื่องยากหรืออุปสรรคปัญหาต่างๆ ในชีวิต เราจะสามารถจัดการได้ไวขึ้น แต่หากทำตามคำแนะนำดังกล่าวมาแล้วก็ยังไม่สามารถจัดการได้ และกระทบกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น อาจต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ช่วยเหลือเพื่อจะได้ไม่ส่งผลรุนแรงกับเราในระยะยาว