อยากได้ต้องซื้อ ของมันต้องมี คุณเป็น Shopaholic หรือเปล่า?


แพทย์หญิงสิริพัชร เพิงใหญ่
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

Shopaholic คืออะไร พฤติกรรมแก้เครียด หรือหนึ่งในสัญญาณเตือนโรคทางจิตเวช?


โรคเสพติดการชอปปิง หรือ Compulsive Shopping มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า “Shopaholic” คือ ภาวะเสพติดการซื้อของ มีอาการของโรคเกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อของจนทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของกลุ่มพฤติกรรมการเสพติด (Behavioral Addiction) เช่น เสพติดการพนัน เสพติดอินเทอร์เน็ต เสพติดการมีเพศสัมพันธ์ เสพติดการออกกำลังกาย



พฤติกรรมไหนเข้าข่ายบ้าชอป? ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหล่านี้


• อยากซื้อของตลอดเวลา
• ซื้อของเกินความจำเป็น
• มีความรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ โดยมักจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ
• รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว
• ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
• ซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น
• ต้องหลบซ่อนหรือโกหกปกปิดเวลาซื้อของนั้นๆ
• มีปัญหาด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น



shopaholic


ผู้ที่มาพบแพทย์ส่วนมากมาด้วยเรื่องของความเครียด ยาเสพติด และพบว่าการชอปปิงเป็นวิธีแก้ปัญหา ช่วยให้หายเครียดได้ชั่วคราว แต่กลายเป็นว่ามีปัญหาเรื่องเงิน เรื่องความสัมพันธ์ตามมา


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเสพติดการชอปปิง?


กลุ่มคนที่เป็นโรคนี้พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดการซื้อของมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านสังคม



shopaholic


• ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ภาวะซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว ภาวะวิตกกังวล โรคสมาธิสั้น มีปัญหาในการควบคุมตัวเองหรือยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น
• ปัจจัยทางสังคม เช่น การใช้บัตรเครดิต การชอปปิงออนไลน์ ทำให้การซื้อของเป็นเรื่องง่ายขึ้น ก็ส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน


วิธียับยั้งชั่งใจ ลดความอยากได้ มีอะไรบ้าง?



1. มีสติ รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ตัวเอง และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่น บางคนซื้อของเพื่อบรรเทาความเครียด หรือบรรเทาความเศร้า ก็ควรหาวิธีจัดการความเครียดวิธีอื่นที่เหมาะสม
2. ไตร่ตรองก่อนซื้อ ว่าสิ่งของนั้นมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ ไม่หุนหันพลันแล่นซื้อทันทีทันใด ให้เวลาตัวเองตัดสินใจและจัดการกับความอยากซื้อของก่อน
3. จำกัดสิ่งกระตุ้นความอยากซื้อของ เช่น ลบแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ ไม่ต้องกดติดตามร้านขายของออนไลน์ ไม่พกบัตรเครดิต เพื่อทำให้การจับจ่ายซื้อของยากขึ้น



ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด บอกเล่าปัญหาการซื้อของเกินความจำเป็นของตนให้คนใกล้ชิดรับรู้ เช่น ไม่ไปชอปปิงคนเดียว ขอให้คนใกล้ชิดช่วยตักเตือน ช่วยห้ามเวลาซื้อของ หรือช่วยวางแผนการใช้จ่าย


เสพติดการซื้อของแค่ไหน ต้องไปหาหมอ?


หากลองปรับตามวิธียับยั้งชั่งใจข้างต้นแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าควบคุมอาการชอปปิงไม่ได้ หรืออาการชอปปิงนั้นมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน กระทบความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่ออารมณ์ ก็มาพบจิตแพทย์ได้


รักษาหายไหม อย่างไร?


แนวทางการรักษาภาวะเสพติดการซื้อของ มีทั้งการเข้ากลุ่มบำบัด การทำจิตบำบัดแบบปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT)


ในกรณีนี้ แพทย์จะทำการรักษาแบบใช้ยาก็ต่อเมื่อการทำจิตบำบัดแบบปรับความคิดและพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาการควบคุมอารมณ์ ภาวะเศร้า ภาวะวิตกกังวล ควรพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม


shopaholic




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม