รู้สึกผิดทุกครั้งที่ว่าง ทำงานแค่ไหนก็ไม่มากพอ


อมรรัตน์ เจริญสุข
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


เคยรู้สึกไหม? แค่ได้พักวันหยุดสุดสัปดาห์ก็รู้สึกเหมือนเสียเวลาทำงาน ยิ่งได้ลาพักร้อนยิ่งรู้สึกผิด เหมือนยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำงานเยอะแค่ไหน ก็ยังรู้สึกไม่มากพอ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องจบที่หมดไฟ เสี่ยงโรคซึมเศร้าไปอีก

Productivity Shame คืออะไร
Productivity Shame หมายถึง ความรู้สึกของการทำบางสิ่งบางอย่างไม่มากเพียงพอ รู้สึกผิดหรือละอายใจเมื่อไม่ได้ทำงานหรือปล่อยให้ตนเองมีการพักผ่อน เนื่องจากคิดว่าเวลาที่ได้พักผ่อนจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อีกมากมาย ต้องมีการบริหารเวลาไม่ให้ตกหล่นอยู่เสมอ ต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาเพื่อให้รู้สึกถึงความมีประสิทธิภาพในงาน


สาเหตุของ Productivity Shame
1. การเชื่อมโยงคุณค่าของตนเองกับความสำเร็จ ยิ่งทำงานมาก ยิ่งรู้สึกดี รู้สึกถึงคุณค่าในตนเองมากขึ้น เมื่องานไม่สำเร็จตามที่คาดหวัง จึงเกิดความรู้สึกผิดหรือละอายใจขึ้นมา
2. กำหนดเป้าหมายที่ไม่สมจริงและเป็นไปได้ยาก เมื่อตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากเกินไป หากไม่สามารถทำได้จริง ก็เกิดความรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า รู้สึกผิด และละอายใจตามมา
3. ยึดติดกับความเชื่อว่าทุกคนประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง การเปรียบเทียบความสำเร็จของตนเองกับเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง ยิ่งทำให้รู้สึกขาดความสามารถและละอายใจตนเอง

Productivity Shame

พฤติกรรมแบบไหนเรียกว่า Productivity Shame
1. ทำงานแค่ไหนก็ไม่มากพอ รู้สึกว่าตนเองทำงานไม่มากเพียงพอ ไม่ว่าทำงานหนักแค่ไหนหรืองานก้าวหน้าตามเป้าหมายก็ไม่เคยรู้สึกว่าเพียงพอ
2. ว่างเมื่อไหร่ รู้สึกผิดเมื่อนั้น มักรู้สึกผิดและละอายใจเมื่อปล่อยให้ตนเองมีเวลาว่าง การได้ใช้เวลาทำงานอดิเรกหรือพักผ่อน กลับรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังทำสิ่งต้องห้ามและไม่เหมาะสม

Productivity Shame

ปรับพฤติกรรมจัดการ Productivity Shame ได้อย่างไร
1. พูดคุยถึงความรู้สึกอย่างเปิดเผยและตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง มีการพูดคุยกับตนเองหรือหัวหน้างาน เกี่ยวกับความคาดหวังและเป้าหมายในงานที่สามารถเป็นจริงได้
2. ปรับวิธีคิดเกี่ยวกับ Productivity การทำงานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจให้ความรู้สึกคืบหน้าช้าแต่ช่วยให้โฟกัสกับงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แม้การทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กันช่วยให้งานสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น แต่ไม่มีใครทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เรียนรู้การปฏิเสธ หากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการได้ ซื่อตรงกับความรู้สึกของตนเองและสิ่งที่สามารถทำได้จริง โดยประเมินว่างานที่ทำอยู่ต้องใช้เวลานานแค่ไหน เมื่อมีงานใหม่เข้ามา สามารถทำเสร็จตามเวลาที่กำหนดได้หรือไม่
4. จำกัดการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (multitasking) เรียงลำดับของงานตามความสำคัญและเร่งด่วน ช่วยให้จดจ่อกับงานที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดและกำจัดสิ่งรบกวนต่างๆ อาจใช้การเรียงลำดับความสำคัญของงานด้วยวิธี The Eisenhower Matrix โดย
- ทำงานที่เร่งด่วนและสำคัญเป็นอันดับแรก
- งานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ สามารถรอได้ อาจต้องวางแผนงานก่อน แล้วลงมือทำให้เรียบร้อยภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้
- งานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน อาจกระจายงานหรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน
- งานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนให้ทำเป็นอันดับสุดท้าย

Productivity Shame


5. หยุดการทำงานหรือพักผ่อนเมื่อไม่ใช่เวลางาน เพื่อให้สมองได้เติมพลัง ช่วยลดความเครียดจากการทำงาน สร้างความสมดุลของชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ที่ดีมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงาน สุขภาพจิตและสุขภาพกายดีขึ้น
6. เปิดโอกาสให้ตนเองได้ผ่อนคลาย มีเวลาให้ตนเองได้ใช้เวลาคนเดียวเพื่อผ่อนคลายและสะท้อนความรู้สึกในวันนั้นๆ โดยตัดขาดจากสิ่งกระตุ้นที่มีผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การเลื่อนดูโซเชียลมีเดีย การฟังพอดแคสต์ การมีส่วนร่วมในวงสนทนาต่างๆ เพราะบางครั้งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าโดยที่ไม่ทันรู้ตัว
7. ทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สนใจ ปล่อยให้ตนเองใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่กับงานอดิเรกที่ชอบ สามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ ลดภาวะหมดไฟ ผ่อนคลายความเครียด สุขภาพจิตดี เมื่อรู้สึกว่าทำงานอดิเรกได้สำเร็จ ก็ถือเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเราทางอ้อมอีกด้วย



อ้างอิงข้อมูลจาก

• Letting Go of Productivity Shame จาก The Shift Blog
• Productivity shame: Why you never feel like you’ve done “enough” (and what to do about it) จาก RescueTime





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม