พ่อแม่ต้องรู้ เมื่อลูกน้อยวัยอนุบาลต้องเป็น “พี่”


แพทย์หญิงกมลชนก เหล่าชัยศรี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์


บ้านไหนที่เพิ่งมีน้องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้น้องตัวน้อย คือ “ใส่ใจคนเป็นพี่” หมายถึง คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสอน บอก แนะนำ และมอบหมายให้เขาได้ทำหน้าที่ของพี่ที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ต่อการเป็นพี่ และเกิดความรู้สึกรักน้อง


สอนลูกให้รักกัน

คุณพ่อคุณแม่ที่สอนลูกคนโตว่าเป็น “พี่” ต้องยอมน้อง ต้องเสียสละให้น้อง อาจมีข้อดีเรื่องการเสียสละ หรือความอดทน แต่ท้ายที่สุดแล้วมีผลเสียที่เห็นได้ชัดมากกว่า เมื่อลูกคนโตเข้าโรงเรียน ไปอยู่ในสังคมเพื่อนฝูง นิสัยจากที่บ้านที่ติดตัวเขาไปด้วย คือ การยอม ยอมเพื่อนทุกคนแม้ตัวเองโดนแกล้ง หรือเสียเปรียบเพื่อนๆ หรือไม่ก็กลายเป็นเด็กเกเร ข่มเหงเพื่อนๆ ไปเลย เพราะที่บ้านเขาต้องอดทน ต้องเสียสละ ลูกก็มาระบายออกกับเพื่อน กับครูนั่นเอง


การปฏิบัติตัวหรือการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพียงเพราะวัยที่ต่างกันของเด็กๆ อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกคนโตได้ คือ ลูกคนโตเกิดอาการน้อยใจ ซึ่งแตกต่างไปตามการกระทำของเด็กแต่ละคน เด็กที่มีนิสัยไม่ค่อยชอบแสดงออก ก็น้อยใจ เสียใจ โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตเลยด้วยซ้ำ ส่วนเด็กที่มีนิสัยร่าเริง กล้าพูด กล้าคิด อาจแสดงออกด้วยการก้าวร้าว ปฏิบัติต่อน้องไม่ดี หรือไม่แสดงออกกับน้อง แต่ไปแสดงออกกับเพื่อนที่โรงเรียนก็เป็นได้


สอนลูกให้รักกัน


เป็น“พี่” ในวัยอนุบาลอย่างไรดีนะ
สิ่งที่คนในบ้านควรต้องปฏิบัติกับลูกคนโตที่มีสถานะเป็น “พี่” ในวัยนี้ คือ
1. ให้เวลาลูกคนโต “ตัวต่อตัว” กับพ่อแม่ เมื่อมีลูกคนเล็กมาเป็นสมาชิกตัวน้อยภายในครอบครัว เวลาที่มีให้ลูกคนโตย่อมลดลงเป็นเรื่องปกติ จึงต้องจัดการเวลาของคุณพ่อคุณแม่กับลูกคนโต โดยไม่มีลูกคนเล็กมาเกี่ยวข้อง และต้องเป็นเวลาคุณภาพและสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกคนโตได้รับความรัก ความสนใจ และความมั่นคงทางอารมณ์อย่างเต็มที่และเพียงพอ เริ่มจากหากิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ชอบทำกับลูกคนโตก่อน แล้วแบ่งว่าวันนี้ใครเป็นคนทำร่วมกับลูก ที่สำคัญต้องสลับกันทั้งคุณพ่อและคุณแม่ หมายถึง ไม่ให้คุณพ่ออยู่กับลูกคนโตตลอด หรือคุณแม่อยู่กับลูกคนเล็กตลอด
2. เข้าใจลูกคนโต คนทุกคนรวมถึงลูกคนโต การกระทำของเขามักมีเหตุผลสนับสนุนอยู่เสมอ บางทีการกระทำที่แสดงออกอาจขัดกับความถูกผิดของสังคม เช่น ลงไม้ลงมือ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องให้ลูกมีทางเลือกในทางปฏิบัติ เช่น ตีน้องไม่ได้เพราะอะไร ทำลายข้าวของไม่ได้เพราะอะไร และทำอะไรแทนได้บ้าง เป็นการเสนอทางเลือก แต่ต้องไม่ปิดกั้นการแสดงออก การเข้าใจลูก ส่งผลไปถึงการเข้าใจอารมณ์ของลูก เข้าใจว่าทำไมลูกถึงทำแบบนี้ ตอนนี้ลูกคิดอะไรอยู่ ตอนนี้ลูกรู้สึกอะไรอยู่ คือ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้และเข้าใจ เพราะเมื่อลูกรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขา เขาก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจน้องเล็กว่าน้องทำแบบนั้น แบบนี้ เพราะอะไร ทำไมถึงทำ แล้วเขาช่วยได้อย่างไร
3. ความร่วมมือของทุกคนในบ้าน ข้อนี้ยากที่สุด บ้านไหนมีแค่พ่อแม่ลูกอาจไม่น่าหนักใจนัก แต่ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย วิธีที่ทำแล้ว ได้ผลดีที่สุด คือ เรียกทุกคนภายในบ้านมาคุยกันทั้งหมด เพื่อร่วมมือกัน แต่หากเป็นเรื่องที่ยากเกินเปลี่ยนแปลง หรือปรับเปลี่ยน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่เครียด เพราะเงื่อนไขของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวย่อมแตกต่างกัน สิ่งไหนที่ปรับเปลี่ยน หรือทำความตกลงร่วมกันได้ ก็ทำสิ่งนั้นต่อไป

สอนลูกให้รักกัน

ตามหลักจิตวิทยา การรับผิดชอบของพี่คนโตต่อน้องคนเล็กหรือใครสักคน ควรเริ่มที่อายุ 18 ปี ดังนั้น หากเป็น “พี่” ในวัยอนุบาลแบบนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ ปล่อยให้ลูกคนโตรับมือกับเรื่องที่เขาต้องเจอในวัยของเขา เช่น การรู้จักปรับตัวเพื่อเข้าโรงเรียน การทำตามกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ แทนการหมายมั่นให้พี่วัยอนุบาลรับผิดชอบน้อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เกินวัย และเพื่อไม่ไปขัดขวางพัฒนาการที่ควรเป็นของลูกวัยนี้ ให้ลูกได้สะสมอารมณ์ที่มั่นคง ความมีน้ำใจ และเติบโตอย่างเหมาะสมตามวัย


สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้มีในบ้าน คือ การเคารพเขา เคารพเรา เคารพกันและกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกยอมรับและเข้าใจ ทั้งลูกคนโตและลูกคนเล็กด้วย






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม