Perinatal Depression ภัยเงียบของคุณแม่หลังคลอด


โชติกา ไกรนิษฐ์
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


สำหรับผู้หญิง การตั้งครรภ์และการเป็นแม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ สามารถสร้างความรู้สึกได้หลากหลาย ตั้งแต่ความรู้สึกตื่นเต้น มีความสุข สมหวังกับการรอคอย ไปจนถึงความเครียด ความกังวล ความเศร้า อาการขึ้นๆ ลงๆ ของความรู้สึกเหล่านี้สำหรับบางคนอาจเกิดเพียงชั่วคราว แต่บางคนอาจคงอยู่หรือรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงหลังคลอด นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของการเป็นแม่คน


Perinatal Depression เป็นโรคทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (ภาวะซึมเศร้าก่อนคลอด) และหลังคลอดบุตร (ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด) อาการอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง หลังคลอดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตมารดา อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในมารดาหลังคลอดในระยะ 1 ปีแรก ทำให้มารดาหลังคลอดไม่สามารถดูแลตนเอง และทำหน้าที่ดูแลทารกได้อย่างเหมาะสม


Sensory integration

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ความเครียดหรือวิตกกังวลของมารดา ปัญหาการเงินหรือปัญหาด้านชีวิตสมรส


“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” และ “เบบี้บลูส์” ต่างกันอย่างไร “เบบี้บลูส์” หรือ “Postpartum Blues” เป็นคำที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เล็กน้อยและเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด เช่น รู้สึกเศร้า อ่อนไหวง่าย ตึงเครียด ขี้หงุดหงิด อ่อนเพลีย เบื่ออาหารนอนไม่หลับรวมถึงความรู้สึกกังวล ความทุกข์ รู้สึกหนักใจ เครียด และเหนื่อยล้าจากการดูแลทารกแรกเกิดตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่มือใหม่จะรู้สึกเหนื่อยหรือหนักใจในบางครั้ง มักเกิดภายใน 3-5 วันหลังคลอด และอาการมักหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องรักษา



“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” หรือ “Postpartum Depression” เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ หากอาการรุนแรงหรือกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน มักเกิดภายใน 6 ถึง 8 สัปดาห์หลังคลอด มารดามักมีอารมณ์เศร้า หดหู่ไม่มีความสุข หรือไม่สนุกสนานเหมือนเดิม มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย หงุดหงิด ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบุตรหรือครอบครัว บางครั้งอยากทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพทั้งมารดาและทารก ไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง


Sensory integration



การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
1. การทำจิตบำบัด การได้พูดคุยกับแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักวิชาการสุขภาพจิต ช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายผ่อนคลายความวิตกกังวล การพูดคุยหรือการให้คำปรึกษา สอนปรับวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ๆ และร่วมกันหาวิธีเพื่อรับมือกับสถานการณ์และอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
2. การรักษาด้วยยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านความเศร้า ส่วนใหญ่แล้วสามารถรับประทานยาต้านเศร้าในช่วงให้นมบุตรได้ หากมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของยาก่อนใช้ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาร่วมกัน


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภัยเงียบของมารดาหลังคลอด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ในระยะยาว และอาจส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว รวมไปถึงความสามารถในการเลี้ยงดูทารกได้ ส่วนผลกระทบต่อลูกนั้น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจทำให้ทารกมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น นอนหลับยาก ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร ร้องไห้มากผิดปกติ เป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีปัญหาพัฒนาการทางภาษา เป็นต้น นอกจากนี้ คุณพ่อของเด็กก็อาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในครอบครัวไปด้วย ซึ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า


การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่และคนใกล้ชิดสามารถทำได้ด้วยการดูแล เตรียมความพร้อมก่อนและหลังการคลอด เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะนี้ได้ โดยหมั่นคอยสังเกตอาการของคุณแม่ที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า เรียนรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย หรือปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิด หากรู้สึกเป็นกังวลหรืออึดอัดใจ ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ให้เปิดใจระบายความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลลูกจากคุณแม่ท่านอื่น ๆ รวมทั้งขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ แต่ถ้าอาการยังคงอยู่ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งคนในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและให้กำลังใจ ช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตของมารดาในระยะหลังคลอดได้ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันกับลูกน้อยได้อย่างมีความสุข



อ้างอิงข้อมูลจาก

• ภาวะบลู - สภาวการณ์ซึมเศร้าของหญิงหลังคลอด จาก วารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 28 ฉบับพิเศษ พฤษภาคม - มิถุนายน 2562 โดย วาสนา มั่งคั่ง เบญจมาศ ยศเสนา และศรีจันทร์ พลับจั่น
• ผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมต่อภาวะซึมเศร้า หลังคลอดในมารดาหลังคลอดครั้งแรก โดย พิชญ์ชนมญชุ์ตา กาญจนวาศ
• บทบาทพยาบาลในการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาครรภ์เสี่ยง จาก พยาบาลสาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 50 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2566 โดย พัชรินทร์ เงินทอง เทียมศร ทองสวัสดิ์ นริศรา ใคร้ศรี และลาวัลย์ สมบูรณ์
• Perinatal Depression จาก The National Institute of Mental Health (NIMH)






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม